เมื่อลูกน้อยอายุครบ 6 เดือน ก็ถึงวัยเริ่มทานอาหารเสริม นอกเหนือจากนมแม่บ้างแล้ว แต่บางครั้ง ร่างกายของลูกอาจต่อต้านกับอาหารบางอย่าง จนทำให้ร่างกายแสดงอาการแพ้ หรือที่เรียกว่า ภูมิ แพ้อาหาร ออกมาได้อาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ขวบปีแรก เนื่องจากระบบทางเดินอาหารและระบบย่อยอาหารของลูกน้อย ยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ คุณพ่อคุณแม่จึงควรหมั่นสังเกตว่า ลูกน้อยมีอาการ แพ้อาหาร ชนิดใดหรือไม่
รู้จักภูมิ แพ้อาหาร
ภูมิ แพ้อาหาร คือ ปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ที่เกิดขึ้นหลังจากกินอาหารบางอย่างเข้าไป มักพบในเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี มีสาเหตุที่ไม่ชัดเจนนัก แต่มีการวิเคราะห์กันว่ามักเกิดจากพันธุกรรม โดยหากมีคนในครอบครัวมีประวัติแพ้อาหารมาก่อน เด็กที่เกิดมาก็จะมีโอกาสเป็นภูมิแพ้อาหารมากขึ้นถึง 60% อาการของภูมิแพ้อาหารที่พบได้บ่อย คือ
• อาการทางผิวหนัง มีผื่นขึ้นบริเวณใบหน้า แก้ม แขน ขา หรือกลากน้ำนม คัน หงุดหงิด ไม่สบายตัว หากอาการแพ้รุนแรง ผื่นจะมีลักษณะนูนแดงคล้ายผื่นลมพิษ
• อาการทางระบบทางเดินอาหาร ลูกอาจแสดงความหงุดหงิดเนื่องจากรู้สึกไม่สบายท้อง อาเจียน ถ่ายเหลวบ่อยครั้ง หรือถ่ายเป็นเลือดปนออกมา
• อาการทางระบบทางเดินหายใจ หายใจเสียงดังครืดคราด หายใจไม่สะดวก ในรายที่มีอาการแพ้รุนแรง อาจพบอาการของโรคหืดร่วมด้วย
ประเภทอาหารที่เด็กเล็กมันจะแพ้
1. โปรตีนในนมวัว
เด็กวัยแรกเกิดถึง 4 เดือนที่ได้รับนมที่มีโปรตีนนมวัวเป็นส่วนผสม มีโอกาสแพ้โปรตีนนมวัวได้สูง นอกจากนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า คุณแม่ที่ดื่มนมระหว่างตั้งครรภ์และให้นมแม่มากกว่าปกติ ก็ทำให้ลูกมีโอกาสแพ้โปรตีนนมวัวได้เช่นกัน
2. ถั่ว
ถั่วลิสงถือเป็นสาเหตุการแพ้อันดับต้นๆ ของเด็กในประเทศแถบตะวันตก แต่เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ในประเทศไทยหรือแถบเอเชียนั้น กลับไม่ค่อยมีเด็กที่เกิดอาการแพ้ถั่วลิสงนัก ถั่วอีกชนิดหนึ่งที่พบว่ามีการแพ้ได้บ่อยคือ ถั่วเหลือง
3. แป้งสาลี
มักเป็นการแพ้แป้งสาลีในอาหารประเภทขนมปัง สปาเก็ตตี้ และมะกะโรนี ซึ่งมีส่วนผสมของแป้งสาลีค่อนข้างมาก จึงมีโอกาสที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้ง่าย
4. อาหารทะเล
อาหารทะเลอย่าง กุ้ง หอย ปู ปลา มีส่วนกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้มากกว่าปลาหรือสัตว์น้ำจืด หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ลูกกินเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อปลา จึงควรเริ่มจากปลาน้ำจืดก่อน เช่น ปลาช่อน ปลาดุก เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพ้
5. ไข่ขาว
ในไข่ขาวมีโปรตีนชื่อว่าโอวัลบูมิน ซึ่งเป็นโปรตีนที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้ ช่วงเริ่มให้อาหารเสริม คุณหมอจึงมักแนะนำให้คุณแม่ให้แต่ไข่แดงก่อน และให้ลูกกินไข่ขาวเมื่อมีอายุ 6 เดือนขึ้นไป เพื่อลดโอกาสการเกิดอาการแพ้โปรตีนไข่ขาว
6. อาหารแปรรูป
อาหารที่ผ่านการแปรรูป มักมีส่วนผสมของสารที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้อาหารได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรเลือกด้วยความระมัดระวัง โดยเลือกอาหารจากผู้ผลิตที่เชื่อถือได้ และมีตรารับรองมาตรฐานความปลอดภัยเท่านั้น
เคล็ดลับป้องกันลูก แพ้อาหาร
• ให้ลูกดื่มนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอย่างน้อย 6 เดือนหรือมากกว่า โดยต้องให้แต่นมแม่ และไม่ให้สลับกับนมผง เพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการแพ้โปรตีนในนมวัวและอาหารต่างๆ โดยเริ่มให้อาหารเสริมตอนอายุ 6 เดือนขึ้นไป
• เมื่อเริ่มให้อาหารเสริม ควรเริ่มให้อาหารทีละชนิด และครั้งละน้อยๆ ถ้าลูกไม่มีอาการแพ้ จึงเปลี่ยนประเภทอาหารไปเรื่อยๆ วิธีนี้จะช่วยให้คุณแม่แยกได้ว่า ลูกมีอาการแพ้อาหารจากสิ่งที่กินเข้าไปหรือไม่
• หลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ โดยเฉพาะอาหารที่เด็กแพ้ได้ง่าย เช่น นมที่มีส่วนผสมของนมวัว รวมถึงอาหารที่ลูกกินแล้วอาเจียนหรือถ่ายบ่อย
• ปรุงอาหารให้ลูกกินเอง หากต้องเลือกซื้ออาหารหรือผลิตภัณฑ์แปรรูป ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ระบุข้อมูลทางโภชนาการที่ชัดเจน และสามารถสอบถามหรือขอรายละเอียดจากผู้ผลิตในกรณีที่เกิดปัญหาได้
© 2021 Osotsapa Company (Limited), All Rights Reserved. Privacy Policy/Terms of Service/CA Transparency Act