ช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกอายุประมาณ 3 ขวบ จะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่อาจจะตึงเครียดที่สุดครั้งหนึ่ง นั่นก็คือการ เข้าอนุบาล วันแรกของลูก โรงเรียนเป็นสถานที่ที่่แปลกใหม่ ที่ลูกของคุณจะได้เรียนรู้ทั้งด้านวิชาการ และฝึกการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคม และที่สำคัญคือ ลูกของคุณจะต้องเรียนรู้การแยกจากคุณเป็นครั้งแรกอีกด้วย
การเตรียมความพร้อมให้การไปโรงเรียนให้กับลูก จึงสำคัญไม่แพ้การหาโรงเรียนให้ลูกเลย คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมความพร้อมในการ เข้าอนุบาล ให้ลูกเสียแต่เนิ่นๆ เพื่อที่ลูกจะได้มีทัศนคติที่ดีต่อโรงเรียน และไม่ร้องไห้โยเยให้ทั้งคุณพ่อคุณแม่และคุณครูต้องลำบากใจในวันแรกของการไปเรียน ซึ่งการเตรียมความพร้อมนี้ ควรทำตั้งแต่ตอนที่ลูกอยู่ในช่วง 3 ขวบปีแรก เรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมความพร้อมให้ลูกนั้นมีอยู่มากมาย และวันนี้เราได้นำการเตรียมความพร้อมหลักๆ ที่สำคัญมาฝากกันแล้ว
• สร้างความมั่นใจว่าคุณจะไม่ทิ้งลูก
นี่เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะลูกของคุณอยู่ในวัยที่กลัวการพลัดพราก การไปโรงเรียนจะทำให้ลูกกังวลว่าจะไม่ได้เห็นหน้าคุณพ่อคุณแม่อีก คุณพ่อคุณแม่จึงต้องให้ความมั่นใจกับลูกว่า จะไปรับลูกกลับแน่ๆ และอาจจะบอกให้ลูกเข้าใจอย่างง่ายๆว่า เมื่อไรจึงจะมารับลูกกลับบ้าน คุณพ่อคุณแม่ควรไปรับลูกให้ตรงเวลา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกด้วย
เวลาไปส่งลูกที่โรงเรียน เมื่อส่งลูกให้กับคุณครูแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรหันหลังเดินกลับด้วยความหนักแน่นมั่นคง ไม่ควรแสดงความวิตกกังวลหรือไม่มั่นใจในการต้องแยกจากลูก การที่ลูกเห็นคุณยืนน้ำตาซึม หรือเกาะรั้วโรงเรียนเฝ้ามองด้วยความเป็นห่วง จะทำให้ลูกวิตกกังวลมากขึ้นได้ การไปนั่งเฝ้าลูกที่โรงเรียนก็จะทำให้ลูกปรับตัวได้ช้าเช่นกัน
• สร้างความคุ้นเคยกับโรงเรียนให้ลูกก่อนไปเรียนจริง
คุณพ่อคุณแม่อาจจะพาลูกไปดูโรงเรียน เพื่อทำความคุ้นเคยกับสถานที่ก่อนเปิดเทอมวันแรก และพาลูกไปสัมผัสห้องเรียนที่ลูกใช้เรียนจริง ถ้าทำได้ ควรพาลูกไปทำความคุ้นเคยกับสถานที่ใหม่ๆ คนใหม่ๆ เช่น ไปบ้านเพื่อนแม่ที่มีเด็ก เปลี่ยนกิจกรรมและสถานที่ทำกิจกรรมให้หลากหลาย รวมถึงพาลูกไปร่วมกิจกรรมของโรงเรียนก่อนเปิดเทอมจริง เพื่อที่เด็กๆ จะได้ทำความคุ้นเคยและเล่นด้วยกันก่อน
• เตรียมร่างกายของลูกให้พร้อม
ให้ลูกทานอาหารที่มีประโยชน์ พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ ให้ลูกได้ออกกำลังกายและนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อให้ลูกมีร่างกายที่แข็งแรงอยู่เสมอ ให้วัคซีนลูกอย่างครบถ้วน อย่าลืมว่า โรงเรียนอนุบาล เป็นสถานที่แพร่เชื้อโรคระบาดต่างๆ ได้ง่าย
• ฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง
เมื่อลูกไปโรงเรียน เขาก็จะเข้าไปอยู่ในอีกสังคมหนึ่ง และไม่มีคนมาดูแลใกล้ชิดเหมือนอยู่ที่บ้านอีก ลูกของคุณจึงควรช่วยเหลือตัวเองได้ นอกจากนี้ เด็กที่ช่วยเหลือตัวเองได้ดีกว่า ก็จะสามารถปรับตัวให้เข้ากับโรงเรียนได้ดีกว่าอีกด้วย
• ฝึกให้ลูกรู้จักการอดทนรอคอย
การฝึกให้ลูกรู้จักการรอ ต้องค่อยๆ ฝึกทีละน้อย และให้ลูกรอในสิ่งที่รอแล้วได้ ไม่ใช่รอแล้วไม่ได้ เพราะลูกจะรู้สึกผิดหวัง เช่น ลูกอยากเล่นอะไรบางอย่างที่ยังไม่ถึงเวลา คุณพ่อคุณแม่อาจจะให้ลูกรอครู่หนึ่ง โดยคุณพ่อคุณแม่อาจจะชวนลูกคุยเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของลูก และช่วยให้ลูกรอนานขึ้นได้
• ส่งเสริมทักษะการเข้าสังคมให้ลูก
เด็กวัยอนุบาลจะต้องรู้จักแบ่งปัน แบ่งของเล่น และเล่นกับคนอื่นเป็น ควรเริ่มจากการที่คุณพ่อคุณแม่เล่นกับลูกก่อน เช่น ให้ลูกแบ่งของเล่นให้คุณพ่อคุณแม่เล่นบ้าง เมื่อลูกสามารถเล่นกับคนอื่นได้ ก็เท่ากับเป็นการเรียนรู้การเข้าสังคมในระดับเบื้องต้นแล้ว เวลาฝึกจะต้องไม่บังคับลูกจนเกินไป เพราะยิ่งบังคับ ก็จะยิ่งทำให้ลูกหวงของมากขึ้น
• สอนให้ลูกรู้จักใช้ภาษาสื่อสาร
สอนให้ลูกบอกความต้องการของตัวเองได้ เพราะเวลาที่ลูกอยู่ที่โรงเรียน คุณครูอาจจะไม่รู้ใจลูกเสียทุกอย่างเหมือนคุณพ่อคุณแม่ จึงต้องฝึกลูกให้สามารถบอกได้ว่า ต้องการอะไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร หรือเมื่อเพื่อนมาแย่งของเล่นแล้วลูกสามารถบอกว่า อย่าแย่ง นี่ของฉัน เธอต้องรอก่อน ได้ เป็นต้น
• สร้างทัศนคติที่ดีต่อโรงเรียน
พูดถึงโรงเรียนในแง่ดี อย่าใช้คำที่ทำให้เห็นว่าโรงเรียนเป็นสิ่งที่น่ากลัวหรือเป็นการลงโทษ เช่น ถ้าดื้อมากๆ หรือร้องไห้ไม่หยุด จะส่งไปอยู่กับคุณครูที่โรงเรียน เพราะจะทำให้ลูกวิตกกังวล มองว่าโรงเรียนเป็นสิ่งที่ไม่ดี และต่อต้านการไปโรงเรียนมากขึ้นได้ ในขณะเดียวกัน ก็อย่าสร้างความคาดหวังที่ไม่มีจริงให้กับลูก หรือพูดราวกับโรงเรียนคือสถานที่มหัศจรรย์ ควรพูดถึงโรงเรียนในแง่บวกทั่วๆ ไปตามความเป็นจริง
• ปัญหาในการไปโรงเรียนของลูก
การต่อต้านไปโรงเรียนของลูกเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปและลูกปรับตัวเข้ากับโรงเรียนได้แล้ว ปัญหานี้จะค่อยๆ หายไปเอง แต่หากลูกของคุณมีพฤติกรรมต่อไปนี้ แสดงว่าปัญหาอยู่ในระดับที่รุนแรง คุณพ่อคุณแม่ควรไปปรึกษากุมารแพทย์ หรือจิตแพทย์เด็ก
- มีปฏิกิริยาต่อต้านที่รุนแรงจนเริ่มก้าวร้าว เช่น ขว้างข้าวของ ทำร้ายหรือทุบตีพ่อแม่
- ลูกมีอารมณ์ซึมเศร้าต่อเนื่อง ดูไม่มีความสุข เก็บตัว ร้องไห้บ่อยๆ
- มีอาการทางกายบ่อยๆ เช่น ปวดหัว ปวดท้อง มักจะเป็นเฉพาะตอนเช้าจะไปโรงเรียน หรือกลางคืนก่อนวันที่จะไปโรงเรียน วันเสาร์อาทิตย์มักจะไม่เป็น ควรตรวจร่างกายลูกก่อนว่าไม่ได้มีโรคหรือความเจ็บป่วยซ่อนอยู่จริงๆ
- มีอาการต่อต้านโรงเรียนต่อเนื่องกันนานหลายเดือน และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น
© 2021 Osotsapa Company (Limited), All Rights Reserved. Privacy Policy/Terms of Service/CA Transparency Act