ปัญหาฝุ่นละออง มลพิษในอากาศกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่บานปลายจนทำให้พ่อแม่หลายคนที่มีลูกเล็ก หวาดวิตกกังวล เพราะในเด็กเล็กนั้นมีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยได้ง่ายอยู่แล้ว แล้วเจ้ามลพิษจากฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ทุกคนกำลังพูดถึงอยู่นี้จะทำอันตรายลูกน้อยอย่างไรบ้าง แล้วพ่อแม่จะดูแลป้องกันลูกให้ปลอดภัยจากฝุ่นละอองนี้ได้อย่างไร
ฝุ่นละออง PM 2.5 คืออะไร เกิดจากอะไร
ฝุ่นละออง PM 2.5 คือฝุ่นละเอียดขนาดเล็ก เป็นอนุภาคที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 2.5 ไมครอน เกิดจากควันเสียของรถยนต์ โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม ควันจากการเผา ฝุ่นละอองขนาดเล็กจะมีผลกระทบต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก
อันตรายจากฝุ่นละออง PM 2.5
● เด็กเล็ก คนชรา แม่ตั้งครรภ์ และคนที่มีโรคประจำตัว เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ หรือร่างกายไม่แข็งแรง เช่น เป็นมะเร็ง ขาดสารอาหาร มีความเสี่ยงมากที่สุดเมื่อหายใจเอาฝุ่นละออง PM 2.5 เข้าร่างกาย
● ฝุ่นละออง PM 2.5 กระตุ้นให้ระบบทางเดินหายใจแย่ลง และเมื่อสะสมในร่างกาย อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง หัวใจขาดเลือด เส้นเลือดหัวใจตีบ หรือโรคทางสมองได้
● ส่งผลต่อพัฒนาการของสมองเด็ก พัฒนาการของสมองเกิดขึ้นตั้งแต่แรกเกิด และในช่วงที่สมองเด็กกำลังพัฒนา ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่รับเข้าไปในร่างกายจะไปทำลายเซลล์สมอง ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการและกระบวนการเรียนรู้ของเด็กได้
อันตรายจากฝุ่นละออง PM2.5 ในเด็ก คลิปจาก UNICEF
https://youtu.be/QcS3ovdsgNI
วิธีดูแล ปกป้องลูกน้อยให้ปลอดภัยจากฝุ่นละออง PM2.5
● สวมหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นละอองให้ลูก เมื่อต้องออกจากบ้านควรให้ลูกสวมหน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาด PM 2.5 ได้ (หน้ากากอนามัยมาตรฐาน N95) เพราะหน้ากากอนามัยทั่วไปอาจจะยังไม่เพียงพอที่จะกรองฝุ่นที่มีความละเอียดเล็กมาก หากลูกรำคาญต้องบังคับให้ลูกสวม หรืออาจจะใช้สติ๊กเกอร์การ์ตูนที่ลูกชอบติดเพื่อเพิ่มความสนใจให้ลูกยอมสวมหน้ากาก
● งดพาลูกออกไปนอกบ้านถ้าไม่จำเป็น จากที่เคยพาลูกไปวิ่งเล่นที่สนามเด็กเล็ก ปั่นจักรยานในสวน หรือออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านควรงด แล้วมาชวนลูกทำกิจกรรมในบ้านแทนไปก่อน
● ใช้ Application เช็กปริมาณฝุ่นละออง มีหลายแอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือที่สามารถตรวจสอบค่าฝุ่นละอองตามจุดต่าง ๆ ได้ ก่อนออกจากบ้าน หรือเดินทางไปไหน ลองดาวน์โหลดมาแล้วใช้ตรวจสอบปริมาณฝุ่นละอองก่อนว่าปลอดภัยที่จะพาลูกไปหรือไม่ โดยค่ามาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษกำหนดไว้คือ 50 มคก./ลบ.ม. ตัวอย่างของแอปพลิเคชั่น เช่น AirVisual หรือ AIR 4Thai
● เปิดเครื่องฟอกอากาศ เมื่อเข้าบ้านให้ปิดประตูหน้าต่างให้สนิท เปิดเครื่องฟอกอากาศ หรือเครื่องปรับอากาศ อาจจะติดตั้งแผ่นกรองอากาศที่เครื่องปรับอากาศที่สามารถกรองฝุ่น PM2.5 เข้าไปด้วย ซึ่งสามารถหาซื้อมาติดตั้งเองได้
● แจ้งทางโรงเรียนว่าของดกิจกรรมกลางแจ้ง บางโรงเรียนอาจจะยังไม่มีมาตรการดูแลนักเรียน อาจจะให้นักเรียนเข้าแถวกลางแจ้งตอนเช้า หรือเล่นที่สนามเด็กเล่น ควรแจ้งทางโรงเรียนว่าขอให้ลูกงดกิจกรรมในช่วงเช้า หรือในช่วงเวลาที่ค่ามลพิษ ค่าฝุ่นละอองสูงเกินมาตรฐานได้หรือไม่
● เสริมวิตามินให้ลูก คำแนะนำจาก UNICEF คือให้รับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีวิตามินซี วิตามินอี สารต้านอนุมูลอิสระ และโอเมก้า 3 มากขึ้น
● ถ้าลูกป่วยควรรีบไปพบแพทย์ ถ้าลูกมีอาการป่วย เช่น มีอาการไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล เป็นหวัด ควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอ
© 2021 Osotsapa Company (Limited), All Rights Reserved. Privacy Policy/Terms of Service/CA Transparency Act