ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดพบได้ค่อนข้างบ่อย ทารกจะมีระดับบิลิรูบิน (Bilirubin) ในกระแสเลือดสูงกว่าปกติ ส่วนหนึ่งเป็นภาวะตัวเหลืองที่พบได้ในทารกปกติ(Physiological jaundice) ทารกอาจไม่ต้องได้รับการรักษาเนื่องจากไม่ก่ออันตราย และภาวะตัวเหลืองที่ผิดปกติ (Pathological jaundice) ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิเช่น มีการสร้างบิลิรูบินเพิ่มขึ้น จากการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดง ภาวะที่เม็ดเลือดแดงอายุสั้นกว่าปกติ ภาวะที่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายจากการขาดเอ็นไซม์ G-6-PD โรคธาลัสซีเมีย จากการติดเชื้อในครรภ์มารดา จากความผิดปกติของการดูดซึมบิลิรูบินจากลำไส้ ในทารกที่มีความผิดปกติของลำไส้ ทารกที่ดูดนมได้น้อย และจากความผิดปกติของการขับหรือกำจัดบิลิรูบิน ในภาวะพร่องธับรอยด์ฮอร์โมน จากยาบางชนิด นอกจากนี้ยังพบภาวะตัวเหลืองได้ในทารกได้รับนมแม่ (breast milk jaundice)
เนื่องจากภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดเกิดได้จากหลายสาเหตุ แนวทางปฏิบัติเมื่อพบภาวะตัวเหลือง แพทย์จะซักประวัติ อายุครรภ์ น้ำหนักทารกแรกเกิด อาการผิดปกติที่จะบ่งชี้ถึงภาวะตัวเหลือง ประวัติการกินนม การขับถ่ายอุจจาระ การตรวจร่างกายเพื่อประเมินระดับตัวเหลืองของทารก และการตรวจทางห้องปฏิบัติการในทารกที่มีภาวะตัวเหลืองที่ผิดปกติ (Pathological jaundice) เช่น การตรวจภาวะซีด (Hct) การตรวจระดับบิลิรูบินน หมู่เลือดมารดาและทารก ระดับเอ็นไซม์ G-6-PD เป็นต้น โดยทารกแต่ละรายแพทย์อาจจะตรวจทางห้องปฏิบัติการที่แตกต่างกันขึ้นกับสาเหตุที่นึกถึง
เป้าหมายของการรักษาภาวะตัวเหลือง คือ เพื่อป้องกัน และลดระดับบิลิรูบิน ไม่ให้สูงถึงภาวะที่อาจเกิดอันตรายต่อสมอง และให้เกิดอาการแทรกซ้อนน้อยที่สุด โดยรักษาตามสาเหตุ เช่น การส่องไฟ การเปลี่ยนถ่ายเลือด การรักษาด้วยยา หากสังเกตว่าลูกมีอาการตัวเหลือง ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ
ขอบคุณบทความจาก
พญ. ฐิตาภรณ์ วรรณประเสริฐ
เเพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนังเด็ก โรงพยาบาลผิวหนังอโศก
© 2021 Osotsapa Company (Limited), All Rights Reserved. Privacy Policy/Terms of Service/CA Transparency Act