พัฒนาการกล้ามเนื้อของเด็กช่วงวัยคลาน
โดยปกติพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่ของเด็กเมื่อลูกอายุ 2 เดือนจะชันคอได้เอง และเมื่อเด็กอายุ 6 เดือนจะพลิกคว่ำพลิกหงายได้ อายุ 8-9 เดือน กล้ามเนื้อแขนขาของลูกจะเริ่มแข็งแรงขึ้น นอกจากจะนั่งได้เอง เด็กๆ จะเริ่มดันตัวเอง ขยับตัวไปข้างหน้าโดยใช้ปลายเท้าถีบยันกับพื้น พร้อมใช้แขนช่วยพยุง
ระยะแรกก่อนคลานเด็กๆ จะค่อยๆ คืบ เมื่อแขนมีแรงมากขึ้นและพยุงตัวได้ ก็จะเริ่มคลานไปที่ต่างๆ เริ่มปีนป่าย และเกาะยืน ช่วงขวบปีจะเกาะเดินและเริ่มเดินปล่อยมือได้
ทำไมลูกน้อยวัยคลานแต่ไม่ยอมคลาน?
สาเหตุที่ในเด็กบางคนอาจไม่ยอมคลาน ส่วนหนึ่งก็คือ
1. พบในเด็กที่มีน้ำหนักตัวมาก ขยับแขนขาไม่ได้คล่อง
2. เด็กที่ขาดการกระตุ้นสภาพร่างกาย เช่น มีคนอุ้มอยู่ตลอด หรืออุ้มนานเกินไป วางลูกบนเบาะหรือที่นอนนุ่มเกินไป
3. และสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะที่จะคลาน เช่น เด็กอยู่ในที่นอนเล็กและแคบไป เด็กป่วย ขาหัก เข้าเฝือก
คุณแม่ช่วยกระตุ้นให้ลูกคลานได้โดย
ใช้ของเล่นสีสดหรือของเล่นที่ลูกชอบมาล่อ ค่อยๆ ขยับของเล่นออกเพื่อให้ลูกขยับตัวตาม เริ่มแรกควรเริ่มในระยะทางใกล้ ๆ หน่อย หากระยะทางไกลมาก ๆ อาจท้อแท้ก่อนได้ แล้วอย่าลืมชมเชย หอมแก้มทุก ๆ ครั้ง เมื่อลูกทำสำเร็จ โดยทั่วไปเด็กจะมีลำดับขั้นของพัฒนาการที่ใกล้เคียงกัน หากลูกไม่ยอมคลานแต่เกาะยืนได้ก็ไม่เป็นไรค่ะ ถือว่าเป็นพัฒนาการแบบก้าวกระโดด ในบางกรณีพัฒนาการอาจไม่ตรงกับอายุที่ระบุไว้ หรือถ้าหากสงสัยว่าเด็กจะมีพัฒนาการล่าช้า ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
ขอบคุณบทความจาก
พญ. ฐิตาภรณ์ วรรณประเสริฐ
เเพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนังเด็ก โรงพยาบาลผิวหนังอโศก
© 2021 Osotsapa Company (Limited), All Rights Reserved. Privacy Policy/Terms of Service/CA Transparency Act