กวาดยา คืออะไร
ในอดีตการเดินทางไปโรงพยาบาลจะค่อนข้างยาก มีความเชื่อมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ ว่าเด็กที่ป่วยเป็นไข้ ไอ เจ็บคอ ลิ้นเป็นฝ้า มีแผลในปาก ไม่ทานข้าว อยู่ในกลุ่มโรคที่เรียกว่า โรคซาง เมื่อมีเด็กไม่สบาย คนเฒ่าคนแก่จะรักษาโดยการ กวาดยา
วิธีการกวาดยา
การกวาดยา ทำได้ค่อนข้างง่าย โดยใช้นิ้วชี้หรือนิ้วก้อยป้ายยาและกวาดให้ลึกถึงโคนลิ้น สูตรยาที่ใช้มีหลายตำรับ ส่วนใหญ่จะเป็นสูตรที่คิดค้นมาจากสมัยบรรพบุรุษ ไม่สามารถเปิดเผยถึงส่วนผสมได้ หมอบางท่านใช้ผสมกับยาสมุนไพร มีการให้น้ำกระสวยซึ่งบางครั้งจะใช้เหล้าเพื่อให้ยาดูดซึมได้ดี และอาจมีการท่องคาถาและผูกข้อมือเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ
กวาดยา ยังจำเป็นต้องทำหรือเปล่า?
ในปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ทันสมัย สามารถวินิจฉัยโรคต่างๆได้เร็วขึ้น มีโรงพยาบาลที่มีคุณหมอเด็ก 24 ชั่วโมง การเดินทางไปโรงพยาบาลทำได้ไม่ยาก หมอแนะนำว่า หากลูกเจ็บป่วย ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย หากผู้เฒ่าผู้แก่ในบ้านอยากให้หลาน กวาดยา แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน
กวาดยา อันตรายกับลูกหรือไม่?
เนื่องจากมีรายงานการพบอาการไม่พึงประสงค์ในยาที่ใช้ใน การกวาดยา และเนื่องจากส่วนผสมของตำรับยาที่ใช้ เช่น การใช้ยาหม้อหรือยาต้มเป็นสูตรที่ส่งต่อมาจากรุ่นบรรพบุรุษ (ที่ไม่สามารถเปิดเผยได้) ซึ่งอาจมีส่วนผสมของสเตียรอยด์หรือยาที่ไม่ควรใช้ในเด็ก นอกจากนี้บางครั้งใช้เหล้าเป็นน้ำกระสาย ซึ่งแอลกอฮอล์ไม่ควรให้ในเด็ก นิ้วที่ใช้กวาดยาให้เด็ก หากไม่สะอาดจะทำให้เกิดแผลและอาจติดเชื้อได้ และผู้ที่กวาดยาจะเสี่ยงกับการถูกเด็กกัดนิ้วอีกด้วย
ขอบคุณบทความจาก
พญ. ฐิตาภรณ์ วรรณประเสริฐ
เเพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนังเด็ก โรงพยาบาลผิวหนังอโศก
© 2021 Osotsapa Company (Limited), All Rights Reserved. Privacy Policy/Terms of Service/CA Transparency Act