ทำไมจึงต้องระบายหรือดูดเสมหะให้ลูก
ในเด็กเล็กหากมีอาการติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ หรือมีสิ่งแปลกปลอมมากระตุ้น ร่างกายจะมีกลไกเพื่อปกป้องร่างกาย โดยการสร้างเสมหะเพื่อมาดักจับสิ่งแปลกปลอม แต่บางครั้งเสมหะก็เหนียว และมีปริมาณมาก ในทารกและเด็กเล็กส่วนหนึ่งเด็กจะไม่สามารถไอเอาเสมหะออกมาเองได้ การดูดเสมหะจะช่วยลดอาการของภาวะอุดกั้นทางระบบทางเดินหายใจ ช่วยลดการเกิดภาวะพร่องออกซิเจน ทำให้ลูกหายใจได้สะดวกมากขึ้น
การดูดเสมหะทางจมูกและปาก
การดูดเสมหะโดยทั่วไป จะใช้สายยางปราศจากเชื้อที่ใช้สำหรับดูดเสมหะใส่ในปากหรือจมูก เพื่อนำเสมหะออก ในเด็กเล็กการใส่สายดูดเสมหะแต่ละครั้งมักไม่เกิน 5 วินาที หากเด็กช่วยไอในขณะดูดเสมหะจะทำให้เสมหะออกจากหลอดลมได้ดีขึ้น และไม่ต้องใช้เวลาในการดูดเสมหะนาน
วิธีการดูดระบายเสมหะ
ให้จับหน้าเด็กหันเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งขณะดูดเสมหะเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กสะบัดหน้าไปมา และป้องกันไม่ให้ลูกสำลักเสมหะหรือเศษอาหารลงปอด ค่อยๆ สอดสายดูดเสมหะเข้าทางปากหรือ ช่องจมูกให้ถึงบริเวณคอหอยหลังโพรงจมูก (ประมาณความลึกของสายโดยวัดระยะจากปลายจมูกถึงติ่งหูความลึกของสายเท่ากันไม่ว่าจะสอดสายดูดเสมหะเข้าทางปากหรือช่องจมูก) เมื่อใช้สายดูดเสมหะกระตุ้นบริเวณนี้ เด็กจะไอเสมหะหลุดจากปอดขึ้นมาในคอ แล้วค่อยทำการดูดเสมหะในคอและปากออก โดยขณะดูดให้คุณแม่ค่อยๆ ขยับสายดูดเสมหะขึ้นลงอย่างช้าๆ และนุ่มนวล
ข้อแนะนำในการดูดเสมหะ
• ทั้งนี้การดูดเสมหะควรทำก่อนอาหาร เพื่อป้องกันการสำลัก
• หากเด็กเพิ่งกินนมหรือกินอาหาร ควรเว้นช่วงเวลาไว้ 1-2 ชั่วโมง เพื่อให้ไม่สำลัก
• ในเด็กที่เสมหะเหนียวหรืออยู่ลึกการเคาะปอดก่อนดูดเสมหะจะช่วยให้เด็กหายใจได้ดีขึ้น
• ในบางครั้งแพทย์อาจให้ผู้ป่วยพ่นละอองน้ำเกลือ 0.9 %NSS เพื่อให้เสมหะอ่อนตัว ไอเอาเสมหะออกได้ง่าย
• หากเด็กเหนื่อยขณะดูดเสมหะ ควรให้พัก จนกระทั่งหายเหนื่อยจึงดูดเสมหะต่อ หากมีข้อสงสัย แนะนำให้ปรึกษาแพทย์และพยาบาล
การดูดเสมหะหากทำอย่างนุ่มนวลและถูกวิธี เด็กไม่ต่อต้าน จะไม่อันตราย ลูกจะไม่เจ็บ หลังดูดเสมหะจะทำให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น เด็กๆหายใจสะดวกขึ้น ดูดนมได้ดีขึ้น และนอนหลับสบายขึ้น
ขอบคุณบทความจาก
พญ. ฐิตาภรณ์ วรรณประเสริฐ
เเพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนังเด็ก โรงพยาบาลผิวหนังอโศก
© 2021 Osotsapa Company (Limited), All Rights Reserved. Privacy Policy/Terms of Service/CA Transparency Act