ในแง่ของพัฒนาการเด็ก การศึกษาพบว่า ระดับของเซโรโทนิน (สารสื่อประสาทสัมพันธ์กับความสุข ความสงบและการจดจ่อใส่ใจ) จะมีระดับต่ำลงในเด็กที่ขาดการสัมผัสในวัยเด็กเล็ก หมายความว่า เด็กเล็กเริ่มเรียนรู้ได้เมื่อรู้สึกปลอดภัยได้ด้วยการสัมผัสร่างกายของแม่
เมื่อสายตาเขาเริ่มมองเห็นได้ชัดขึ้น ไกลขึ้น เขาจะได้เห็นตากลมโตคู่นั้นของพ่อแม่ ใบหน้า สีหน้า แววตา คนที่จะให้ความรู้สึกปลอดภัยกับเขา สร้าง ‘แม่ที่มีอยู่จริง’ ‘พ่อที่มีอยู่จริง’ สร้างใครสักคนที่เขาจะไว้เนื้อเชื่อใจ ดูแลเขาในยามที่เขาหิว เขาง่วง เขารู้สึกไม่สบาย ไม่ปลอดภัย เพราะเมื่อไว้ใจพ่อแม่ได้ โลกรอบกายเขาจะนิ่งขึ้น เขาจะไว้ใจโลกรอบตัวได้ เขาจะเริ่มออกไปสำรวจโลกรอบตัวเพื่อเติบโตต่อไปอย่างเต็มที่ เปลี่ยนผ่านจากวัยที่พึ่งพาคุณพ่อคุณแม่ ไปยังวัยที่เริ่มดูแลตัวเองได้ เริ่มแยกตัวออกจากพ่อแม่ได้อย่างรู้สึกปลอดภัย มีความมั่นคงทางจิตใจมากกว่าเด็กที่เติบโตมาด้วย ‘ความรู้สึกขาด’ การสัมผัส
ความสัมพันธ์อันมั่นคง คือพื้นฐานสำคัญของ ‘ความฉลาดทางอารมณ์’ (Emotional Quotient) หรือ EQ หากพูดให้ง่าย EQ ก็คือทักษะในการแสดงออกและจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของตนเองได้ ในขณะเดียวกันก็ยังรับรู้และเคารพความรู้สึกของผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม โดยหลักการในกาปลูกฝัง EQ ให้กับลูกมีหลัก 3 ประการคือ สอนลูกให้รู้จักอารมณ์ของตนเอง สะท้อนความรู้สึกของลูก และเป็นตัวอย่างที่ดีในการจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกอย่างเหมาะสมให้ลูกเห็นเป็นแบบอย่าง
เมื่อโลกไม่นิ่ง เหตุการณ์ที่เผชิญจะกระตุ้นให้สมองรับรู้ถึง ‘อารมณ์ความรู้สึก’ อันได้แก่ ดีใจ โกรธ วิตกกังวล เศร้าโศก และความกลัวการสัมผัสอันอ่อนโยนจากพ่อแม่ผ่านอ้อมกอดที่อบอุ่น ตักที่นุ่มนิ่ม ไหล่ให้ซบพิง มือนุ่ม ๆ ที่ลูบหัวลูบไหล่ พร้อมกับสายตาที่อ่อนโยนด้วยเมตตาและความสงบจะทำให้โลกรอบตัวลูกนิ่งขึ้น เขาจะรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น เปิดโอกาสให้เขาได้แสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกของเขาอย่างเต็มที่ หัวเราะให้สุดเสียง ร้องไห้ได้อย่างสนิทใจ ซบแอบอิงได้เต็มที่เมื่อกลัว ขอเพียงลูกจงไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำร้ายผู้อื่น และไม่ทำลายสิ่งของ ลูกจะมีพ่อแม่อยู่ตรงนี้เสมอ ข้าง ๆ หนู คนที่มอบความรักความเข้าใจและสัมผัสอันอบอุ่นให้กับลูก
อยู่ตรงนี้
ความฉลาดทางอารมณ์ มีประโยชน์มากต่อลูกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อนาคตเมื่อลูกต้องเจอกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก เขาจะสามารถควบคุมจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของตนเองได้เหมาะสม และผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นไปได้ โดยยังสามารถคงความสัมพันธ์อันดีกับคนรอบข้างได้ เพราะยามที่มนุษย์รู้สึกปลอดภัย และได้รับการตอบสนองความต้องการของร่างกาย อารมณ์และจิตใจเพียงพอ เขาจะเริ่มรับรู้อารมณ์และจิตใจของผู้อื่นรอบตัว นำมาสู่ทักษะของความเอาใจเขามาใส่ใจเรา (Empathy) พัฒนาทักษะทางสังคมให้เกิดปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับผู้อื่นได้ นำไปสู่การเป็นเพื่อนที่ดี ผู้ร่วมงานที่ดี รวมถึงผู้นำที่ดีได้ในอนาคต
นี่คือพื้นฐานของพัฒนาการทั้งทางร่างกาย อารมณ์ของเด็ก ปูทางไปสู่ความมั่นใจในตนเอง การนับถือตัวเอง ความยืดหยุ่นทางสมอง และการพัฒนาการทำงานของสมองส่วนหน้าที่ใช้ในการคิด-วิเคราะห์-แยกแยะ-ควบคุมตนเองที่เราเรียกว่า EF หรือ executive Function ที่ถือเป็นทักษะจำเป็นที่ทำให้เด็กคนหนึ่งใช้ชีวิตได้ดีและประสบความสำเร็จในชีวิตในอนาคตได้ … ทั้งหมดเริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “การสัมผัส”
TIPS : ในขณะที่นวดสัมผัสอย่างอ่อนโยน คุณพ่อคุณแม่สามารถสบตา พูดคุย และร้องเพลงเบา ๆ ไปด้วย เพื่อเป็นการกระตุ้นการมองเห็น การได้ยิน และพัฒนาการทางอารมณ์ที่ดีนี่แหละ สิ่งเล็ก ๆ ที่ทรงพลังจากพลังสัมผัสอันอ่อนโยน ที่สานสัมพันธ์แม่ลูกให้แข็งแรง ช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการความฉลาดทางอารมณ์ที่ดีได้
เอกสารอ้างอิง
[1] Hopper HE, Pinneau SR. Frequency of regurgitation in infancy as related to the amount of stimulation received from the mother. Child Dev. 1957;28:229–35.
[2] Casler L. The effects of extra tactile stimulation on a group of institutionalized infants. Genet Psychol Monogr. 1965;71:137–75.
[3] Feldman R, et al. Touch attenuates infants' physiological reactivity to stress. Dev Sci 2010 Mar;13(2):271-8.
[4] McEwen BS, Gaianaros PJ. Stress- and allostasis-induced brain plasticity. Annu Rev Med. 2011;62:431-45.
[5] Meaney MJ, et al. Early postnatal handling alters glucocorticoid receptor concentrations in selected brain regions. Behav Neurosci. 1985 Aug;99(4):765-70.
[6] Mrljak R, et al. Effects of Infant Massage: A Systematic Review. Int J Environ Res Public Health. 2022 Jun; 19(11): 6378.
© 2021 Osotsapa Company (Limited), All Rights Reserved. Privacy Policy/Terms of Service/CA Transparency Act