พลังแห่งการสัมผัส : เรื่องเรียบง่ายที่ทรงพลังต่อ EQ และพัฒนาการของลูกน้อย
อาหาร ยา เครื่องหุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย คือสิ่งที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ในการดำรงชีวิต ที่เรียกว่า ‘ปัจจัย 4’ แต่สำหรับเด็ก ปัจจัย 4 ที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของร่างกายและสมอง ก็คือ อาหาร การนอนหลับ สิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย และสัมผัสที่อ่อนโยนจากพ่อแม่หรือจากใครสักคนที่อยู่ตรงนั้นเพื่อเขาในยามที่เขาต้องการ มนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมสัญชาตญาณพื้นฐานที่จำเป็นในการเอาชีวิตรอด ที่เราเรียกว่า Primitive Reflexes หรือ รีเฟล็กซ์ดั้งเดิม โดยทารกจะร้องไห้เมื่อรู้สึกไม่สุขสบาย
‘เสียงร้องไห้’ ของเด็กเป็นสัญชาตญาณของร่างกายเพื่อเรียกให้คุณพ่อคุณแม่ หรือ ‘ใครสักคน’ มาให้นมเขายามหิว มากล่อมเขาให้นอนหลับไป มาอุ้ม มาสัมผัส มาอุ้ม มาพูดคุยกับเขาในยามที่เขารู้สึกไม่ปลอดภัย … เสียงร้องของลูก กลิ่นกายของลูกจะกระตุ้นการหลั่งของ ‘ฮอร์โมนแห่งความรัก’ ที่มีชื่อว่า อ็อกซิโทซิน (Oxytocin) จากต่อมใต้สมองที่ควบคุมอารมณ์ของคุณแม่ต่อเสียงร้องไห้ของลูก สร้างความรู้สึกผูกพันระหว่างกัน
ข้อมูลจากงานวิจัยในอดีตพบว่า การอุ้มสัมผัสทารกเพิ่มขึ้น 10 นาทีต่อวัน สามารถช่วยลดการแหวะนมในทารกได้ [1] และพบว่าเด็กที่ได้รับการกระตุ้นประสาทสัมผัสด้วยการสัมผัส (Tactile Stimulation) เพิ่มขึ้น 20 นาทีต่อวันเป็นระยะเวลาติดต่อกัน 10 สัปดาห์จะมีพัฒนาการตามวัยที่ดีกว่ากลุ่มควบคุม (อ้างอิงจากคะแนนที่ได้จากการประเมินพัฒนาการตามวัย) [2] ในแง่ของอารมณ์ งานวิจัยพบว่าการสัมผัสอันอ่อนโยนสามารถลดความเครียดของเด็กทารกได้ [3] ช่วยสร้างความสัมพันธ์อันมั่นคง (Secured Attachment) ระหว่างเด็กและผู้เลี้ยง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สัมพันธ์กับทักษะทางสังคมและการทำงานในอนาคต รวมถึงความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นอีกด้วย ในทางกลับกัน เด็กที่ขาดการสัมผัสอันอ่อนโยนจะสร้างผลลบต่อเด็กก่อนให้เกิดการแยกตัวออกจากสังคม พฤติกรรมรุนแรง และปัญหาทางจิตอารมณ์อย่างโรคซึมเศร้าได้
ยิ่งกอด ยิ่งอุ้ม ยิ่งสัมผัส ยิ่งผูกพัน
ยิ่งกอด ยิ่งอุ้ม ยิ่งสัมผัส ยิ่งทำให้โลกรอบตัวสงบและรู้สึกปลอดภัย
การกอดจึงเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะช่วยให้ร่างกายรู้สึก สงบและปลอดภัยระหว่างกันและกัน เพราะการสัมผัสอันอ่อนโยนระหว่างกัน คือ สิ่งที่มนุษย์ต้องการ ในแง่ของพัฒนาการเด็ก การศึกษาพบว่า ระดับของเซโรโทนิน (สารสื่อประสาทสัมพันธ์กับความสุข ความสงบและการจดจ่อใส่ใจ) จะมีระดับต่ำลงในเด็กที่ขาดการสัมผัสในวัยเด็กเล็ก หมายความว่า เด็กเล็กเริ่มเรียนรู้ได้เมื่อรู้สึกปลอดภัยได้ด้วยการสัมผัสร่างกายของแม่ เมื่อสายตาเขาเริ่มมองเห็นได้ชัดขึ้น ไกลขึ้น เขาจะได้เห็นตากลมโตคู่นั้นของพ่อแม่ ใบหน้า สีหน้า แววตา คนที่จะให้ความรู้สึกปลอดภัยกับเขา สร้าง ‘แม่ที่มีอยู่จริง’ ‘พ่อที่มีอยู่จริง’ สร้างใครสักคนที่เขาจะไว้เนื้อเชื่อใจ ดูแลเขาในยามที่เขาหิว เขาง่วง เขารู้สึกไม่สบาย ไม่ปลอดภัย เพราะเมื่อไว้ใจพ่อแม่ได้ โลกรอบกายเขาจะนิ่งขึ้น เขาจะไว้ใจโลกรอบตัวได้ เขาจะเริ่มออกไปสำรวจโลกรอบตัวเพื่อเติบโตต่อไปอย่างเต็มที่ เปลี่ยนผ่านจากวัยที่พึ่งพาคุณพ่อคุณแม่ ไปยังวัยที่เริ่มดูแลตัวเองได้ เริ่มแยกตัวออกจากพ่อแม่ได้อย่างรู้สึกปลอดภัย มีความมั่นคงทางจิตใจมากกว่าเด็กที่เติบโตมาด้วย ‘ความรู้สึกขาด’ การสัมผัส ดังนั้นคำกล่าวที่ว่า “อย่าไปอุ้มเยอะ เดี๋ยวเด็กติดมือ” จึงเป็นคำกล่าวที่ดูแล้วตรงกันข้ามกับข้อมูลทางจิตวิทยาพัฒนาการเด็กโดยสิ้นเชิง เพราะเราพบว่าความจริงแล้วอาจไม่มีคำว่า “เด็กติดมือ” และไม่มีคำว่า “มากเกินไป” กับการสัมผัส อุ้มกอด เพราะเมื่อเขาได้รับการสัมผัสอันอ่อนโยนจากพ่อแม่จนสร้าง ‘ความสัมพันธ์อันมั่นคง’ กับพ่อแม่เพียงพอแล้ว เขาจึงพร้อมที่จะเปลี่ยนผ่านจากวัยที่ต้องพึ่งพอพ่อแม่เป็นหลัก ไปสู่วัยที่เขาจะดูแลตัวเองได้มากขึ้นอย่างมั่นใจและรู้สึกปลอดภัย
ความสัมพันธ์อันมั่นคง คือพื้นฐานสำคัญของความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient) หรือ EQ หากพูดให้ง่าย EQ ก็คือทักษะในการแสดงออกและจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของตนเองได้ ในขณะเดียวกันก็ยังรับรู้และเคารพความรู้สึกของผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม โดยหลักการในการปลูกฝัง EQ ให้กับลูกมีหลัก 3 ประการคือ สอนลูกให้รู้จักอารมณ์ของตนเอง สะท้อนความรู้สึกของลูก และเป็นตัวอย่างที่ดีในการจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกอย่างเหมาะสมให้ลูกเห็นเป็นแบบอย่าง
เมื่อโลกไม่นิ่ง เหตุการณ์ที่เผชิญจะกระตุ้นให้สมองรับรู้ถึง ‘อารมณ์ความรู้สึก’ อันได้แก่ ดีใจ โกรธ วิตกกังวล เศร้าโศก และความกลัว การสัมผัสอันอ่อนโยนจากพ่อแม่ผ่านอ้อมกอดที่อบอุ่น ตักที่นุ่มนิ่ม ไหล่ให้ซบพิง มือนุ่ม ๆ ที่ลูบหัวลูบไหล่ พร้อมกับสายตาที่อ่อนโยนด้วยเมตตาและความสงบจะทำให้โลกรอบตัวลูกนิ่งขึ้น เขาจะรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น เปิดโอกาสให้เขาได้แสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกของเขาอย่างเต็มที่ หัวเราะให้สุดเสียง ร้องไห้ได้อย่างสนิทใจ ซบแอบอิงได้เต็มที่เมื่อกลัว ขอเพียงลูกจงไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำร้ายผู้อื่น และไม่ทำลายสิ่งของ ลูกจะมีพ่อแม่อยู่ตรงนี้เสมอ ข้าง ๆ หนู คนที่มอบความรักความเข้าใจและสัมผัสอันอบอุ่นให้กับลูก อยู่ตรงนี้
ความฉลาดทางอารมณ์ มีประโยชน์มากต่อลูกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อนาคตเมื่อลูกต้องเจอกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก เขาจะสามารถควบคุมจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของตนเองได้เหมาะสม และผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นไปได้ โดยยังสามารถคงความสัมพันธ์อันดีกับคนรอบข้างได้ เพราะยามที่มนุษย์รู้สึกปลอดภัย และได้รับการตอบสนองความต้องการของร่างกาย อารมณ์และจิตใจเพียงพอ เขาจะเริ่มรับรู้อารมณ์และจิตใจของผู้อื่นรอบตัว นำมาสู่ทักษะของความเอาใจเขามาใส่ใจเรา (Empathy) พัฒนาทักษะทางสังคมให้เกิดปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับผู้อื่นได้ นำไปสู่การเป็นเพื่อนที่ดี ผู้ร่วมงานที่ดี รวมถึงผู้นำที่ดีได้ในอนาคต
นี่คือพื้นฐานของพัฒนาการทั้งทางร่างกาย อารมณ์ของเด็ก ปูทางไปสู่ความมั่นใจในตนเอง การนับถือตัวเอง ความยืดหยุ่นทางสมอง และการพัฒนาการทำงานของสมองส่วนหน้าที่ใช้ในการคิด-วิเคราะห์-แยกแยะ-ควบคุมตนเองที่เราเรียกว่า EF หรือ executive Function ที่ถือเป็นทักษะจำเป็นที่ทำให้เด็กคนหนึ่งใช้ชีวิตได้ดีและประสบความสำเร็จในชีวิตในอนาคตได้ … ทั้งหมดเริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “การสัมผัส”
นี่คือ พลังแห่งการสัมผัสที่อ่อนโยนของพ่อแม่ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการสัมผัสที่อ่อนโยนของพ่อแม่นั้นมี ‘พลังบวก’ และ ‘ข้อดี’ ต่อเด็กคนหนึ่งอย่างมาก นอกจากนี้ การอุ้ม-กอด-บอกรักและการสัมผัสอันอ่อนโยนนั้นไม่มีราคาค่างวด
เริ่มต้นตั้งแต่ชั่วโมงแรกที่ลูกเกิดเพื่อให้นมแม่ และสม่ำเสมอหลังจากนั้น คือ วิธีที่คุณแม่จะมอบสัมผัสที่อ่อนโยนให้ลูกได้ตั้งแต่วันที่ลูกลืมตามองโลกครั้งแรก เนื้อแนบเนื้อ ปากครอบดูดเต้านม ตาสบตามองกัน จากนั้นคือการอุ้มกอดปลอบโยนยามที่ลูกร้องไห้ไม่สบายตัว ผ่านการเล่นบนร่างกายของลูก แต่แก้ม แตะหลัง หอมแก้มฟอด อุ้มสูง ขี่หลัง นอนบนพุงพ่อแม่ และที่สำคัญ ก็คือ ผ่านกิจวัตรประจำวันอันแสนเรียบง่ายทุกวัน เช่นการอาบน้ำ และการนวดสัมผัส
การอาบน้ำ คือ ช่วงเวลาที่ผ่อนคลายและความความสุขที่พ่อแม่จะมอบสัมผัสอันอ่อนโยนให้ลูกได้ เพราะช่วงเวลาของการอาบน้ำ เป็นช่วงเวลาที่เด็ก ๆ ผ่อนคลาย สัมผัสน้ำ สัมผัสมือของพ่อแม่ ได้ทำความสะอาดร่างกายให้สบายตัว มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ของสบู่/แชมพูเด็กที่ไม่ระคายเคือง เมื่ออาบน้ำสระผมเสร็จซับตัวให้แห้ง ทาครีมทาโลชั่นที่ป้องกันไม่ให้ผิวสูญเสียความชุ่มชื้น นวดออยล์เบา ๆ กระตุ้นประสาทสัมผัสในส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหน้าอก ท้อง หลัง ก้น แขนขา สบตากัน ยิ้มหวานให้กัน สัมผัสถึงความรัก ความอ่อนโยน และความอบอุ่นระหว่างกายของกันและกัน เสริมสร้างพัฒนาการทางอารมณ์ที่ดีและจิตใจที่เข้มแข็งให้กับ
การนวดสัมผัสผิวหนัง คือ อวัยวะรับประสาทสัมผัสที่ไวต่อการกระตุ้นด้วยการสัมผัสตั้งแต่แรกเกิด ดังนั้นการสัมผัสและการนวดลูกน้อยจึงเป็นวิธีการกระตุ้นพัฒนาการที่เรียบง่ายและดีต่อลูกมาก จากงานวิจัยที่เรียบเรียงด้วยวิธี Systematic Review พบว่าการนวดเด็กทารก (Infant Massage) ส่งผลดีต่อเด็ก อาจลดความเจ็บปวด และทำให้น้ำหนักตัวของทารกเพิ่มขึ้นได้ [6] ในขณะเดียวกันก็ไม่พบข้อเสียจากการนวดทารกเลย ดังนั้นการนวดจึงเป็นวิธีที่ปลอดภัยมาก คุณแม่สามารถนวดลูกน้อยได้ตามที่ต้องการ โดยเวลาที่มักสะดวกที่สุดก็คือ ช่วงเวลาหลังอาบน้ำ เพราะเป็นช่วงที่ผ่อนคลาย ไม่ง่วง ไม่หิว โดยคุณแม่ควรปรับอุณหภูมิในห้องให้เหมาะสมไม่ร้อนไม่เย็นจนเกินไป (โดยอุณหภูมิห้องที่เย็นเกินไปอาจทำให้เด็กทารกตัวเย็น และไม่สบายตัวได้) และวางลูกลงบนเบาะคลุมด้วยผ้า (เผื่อไว้ในกรณีที่ลูกปัสสาวะหรืออุจจาระออกมา) จากนั้นใช้มือที่สะอาดของคุณแม่นวดไปตามจุดต่าง ๆ ของลูกจากศีรษะ (เว้นตรงกระหม่อมหน้าและหลัง) ใบหน้า แก้ม รอบปาก หน้าอก หน้าท้อง แผ่นหลัง แขน ขา ลงมาจนถึงฝ่าเท้า เน้นการลูบนวดอย่างนุ่มนวลไปตามแนวของกล้ามเนื้อ ไม่แรงเกินไปจนทำให้ลูกน้อยไม่สบายตัวหรือเจ็บ ในขณะที่นวด คุณแม่สามารถใช้โลชั่น ครีมหรือออยล์ทาไปพร้อมกับการนวดได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวสูญเสียความชุ่มชื้นในขณะเดียวกันก็เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนังด้วย
TIPS : ในขณะที่นวดสัมผัสอย่างอ่อนโยน คุณพ่อคุณแม่สามารถสบตา พูดคุย และร้องเพลงเบา ๆ ไปด้วย เพื่อเป็นการกระตุ้นการมองเห็น การได้ยิน และพัฒนาการทางอารมณ์ที่ดี นี่แหละ สิ่งเล็ก ๆ ที่ทรงพลังจากพลังสัมผัสอันอ่อนโยน ที่สานสัมพันธ์แม่ลูกให้แข็งแรง ช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการความฉลาดทางอารมณ์ที่ดีได้
เอกสารอ้างอิง
[1] Hopper HE, Pinneau SR. Frequency of regurgitation in infancy as related to the amount of stimulation received from the mother. Child Dev. 1957;28:229–35.
[2] Casler L. The effects of extra tactile stimulation on a group of institutionalized infants. Genet Psychol Monogr. 1965;71:137–75.
[3] Feldman R, et al. Touch attenuates infants' physiological reactivity to stress. Dev Sci 2010 Mar;13(2):271-8.
[4] McEwen BS, Gaianaros PJ. Stress- and allostasis-induced brain plasticity. Annu Rev Med. 2011;62:431-45.
[5] Meaney MJ, et al. Early postnatal handling alters glucocorticoid receptor concentrations in selected brain regions. Behav Neurosci. 1985 Aug;99(4):765-70.
[6] Mrljak R, et al. Effects of Infant Massage: A Systematic Review. Int J Environ Res Public Health. 2022 Jun; 19(11): 6378.
© 2021 Osotsapa Company (Limited), All Rights Reserved. Privacy Policy/Terms of Service/CA Transparency Act