ช่วงหน้าฝนนี้นอกจากต้องระวังเรื่องความเจ็บป่วยแล้ว ยังต้องระวังสัตว์มีพิษที่มากับฝนด้วย เพราะหลังฝนตกชอบมีน้ำขังอยู่ตามที่ต่างๆ และหลังฝนตกหากมีน้ำขังตามที่อยู่อาศัยของสัตว์จำพวก งู ตะขาบ แมงป่อง และสัตว์มีพิษชนิดอื่นๆ อาจหนีน้ำมาหลบในบ้านหรือที่เก็บของ เพื่อความปลอดภัยคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรให้เด็กๆ เดินตามลำพังในที่มืดๆ ชื้นๆ หรือช่วงเวลากลางคืน
วิธีปฐมพยาบาล เมื่อลูกถูกแมงป่องต่อย
เมื่อถูกแมงป่องต่อยให้
- ทำความสะอาดด้วยสบู่และน้ำ
- ประคบด้วยน้ำเย็น
- ให้ขาหรือแขนที่โดนต่อยอยู่ในระดับสูงระดับเดียวกับหัวใจ เพื่อลดการกระจายของพิษ
- รับประทานยาแก้ปวด อาการปวด บวมแดงร้อนบริเวณที่ถูกกัด มักจะดีขึ้นใน 24 ชั่วโมง ซึ่งต่างจากแมงมุมที่อาจบวมนานเป็นสัปดาห์
ในกรณีที่แพ้รุนแรงเมื่อถูกแมงป่องที่มีพิษต่อย อาจมีอาการเยื่อบุปาก คอหอยบวม แน่นหน้าอก หายใจลำบาก อาหารทางผิวหนังมีผื่นลมพิษ ความดันโลหิตลดลง ชีพจรเบาและเร็ว ถ้านำส่งโรงพยาบาลและรักษาไม่ทันอาจทำให้เสียชีวิตได้
อาการเหล่านี้เป็นได้ตั้งแต่ถูกกัดไม่กี่นาทีหรืออาจเป็นชั่วโมง ซึ่งความรุนแรง ขึ้นกับความไวของสารกระตุ้น ปริมาณพิษที่ได้รับ และชนิดของการแพ้
การรักษากรณีเกิดอาการแพ้รุนแรง หรือที่เรียกว่า Anaphylaxis ควรรีบนำส่งโรงพยาบาล โดยคุณหมอจะติดตามสัญญาณชีพ วัดความดัน วัดชีพจร และวัดอัตราการหายใจ อาจจะให้น้ำเกลือในกรณีความดันต่ำ หรือฉีดยาแก้แพ้ให้
แมลงก้นกระดก
แมลงก้นกระดก ทำให้เกิดผิวหนังอักเสบ เรียกโรค Paederous dermatitis แมลงก้นกระดกมีลำตัวเป็นปล้องๆ สีส้มดำ แมลงกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะกินพืช ช่วยควบคุมการระบาดของแมลงศัตรูพืช
ปกติแมลงก้นกระดกจะไม่ปล่อยสารพิษหรือทำอันตรายต่อคน แต่เราจะได้รับสารพรีเดอรินปล่อยจากตัวของแมลง เมื่อเราขยี้แมลง หรือสัมผัสโดนแมลง หรือปัดแมลงมาโดนบริเวณผิวหนัง
ลักษณะอาการจากสัมผัสโดนสารพรีเดอรินของแมลง
หลังสัมผัสโดนสารสารพรีเดอรินของแมลง จะมีลักษณะอาการ ดังนี้
- ช่วงแรกจะมีผื่นแดง แสบร้อนและคัน
- ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มน้ำ หรือตุ่มหนอง
- และค่อยๆ ตกสะเก็ดใน 7-10 วัน
หากติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำแทรกซ้อน จะทำให้ผื่นหายช้าลง ความรุนแรงของการอักเสบบริเวณผิวหนังจะขึ้นกับความเข้มข้นของสารพรีเดอรินที่สัมผัสโดน
ลักษณะผื่นมี 2 แบบ คือ
1. ผื่นที่มีลักษณะจำเพาะ คือ ถ้าพบบริเวณข้อพับ เช่น ข้อพับแขน รักแร้ ผื่นจะมีลักษณะประกบกัน หรือที่เรียกว่า kissing lesion
2. ผื่นที่เกิดเป็นทางยาว อาจเกิดจากการปัดแมลง และผื่นจะเป็นตามรอยที่ปัด
เวลาเด็กๆไปเที่ยวต่างจังหวัด อย่าจับแมลงด้วยมือเปล่าหรือใช้มือปัด การใช้กระดาษค่อยๆ รองแมลงออก แล้วค่อยนำไปปล่อยจะปลอดภัยกว่า
การป้องกันอันตรายจากสัตว์มีพิษ
วิธีการป้องกันอันตรายจากสัตว์มีพิษมีหลายๆวิธี เช่น
• ทำความสะอาดในบริเวณบ้าน
เนื่องจากสัตว์ที่มีพิษส่วนใหญ่ ชอบอาศัยตามพื้นดินใต้ก้อนหิน ในที่อับชื้น ไม่มีแสง หรือในบ้านที่มีของหรืออุปกรณ์ต่างๆ ค่อนข้างเยอะ ดังนั้นจึงควรจัดบ้านให้เป็นระเบียบ เพื่อไม่ให้มีที่ให้สัตว์มีพิษเข้ามาหลบตามมุมต่างๆ ได้ และควรปิดช่องระบายน้ำในห้องน้ำ ป้องกันสัตว์มีพิษมุดขึ้นมาตามท่อระบายน้ำ
• เมื่อต้องออกนอกบ้านเวลากลางคืน
หากต้องออกนอกบ้านในเวลาค่ำคืน ควรมีไฟฉาย หรือเดินในบริเวณที่มีแสงไฟส่องสว่างพอ หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่ที่มีงูหรือสัตว์มีพิษ หรือบริเวณที่เคยมีประวัติเรื่องสัตว์มีพิษชุกชุม หากจำเป็นหรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมกางเกงขายาวและรองเท้าหุ้มส้น ก่อนจะสวมรองเท้า ควรตรวจดูในรองเท้าให้แน่ใจก่อน ว่ามีงูหรือสัตว์เลื้อยคลานที่แอบในรองเท้าหรือไม่
• ควรหลีกเลี่ยงโพรงที่ทึบ
ควรหลีกเลี่ยงการงัดแงะ ขุดคุ้ยก้อนหิน หรือขอนไม้ หรือการใช้มือ เท้า หรือมุดเข้าไปในโพรงที่ทึบ เนื่องจากอาจมีสัตว์มีพิษหลบซ่อนอยู่ได้ และเมื่อเจองู แมงป่อง ตะขาบควรหลีกเลี่ยงอยู่ห่างๆ อย่าเข้าใกล้
ขอบคุณบทความจาก
พญ. ฐิตาภรณ์ วรรณประเสริฐ
เเพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนังเด็ก โรงพยาบาลผิวหนังอโศก
© 2021 Osotsapa Company (Limited), All Rights Reserved. Privacy Policy/Terms of Service/CA Transparency Act