ช่วงนี้เปิดเทอมแล้ว ลูกต้องออกไปเผชิญกับโลกภายนอกเช่นโรงเรียน แม่ๆ จะต้องระวังโรคต่างๆ ยังไง และโรคอะไรบ้างที่ลูกวัยเรียนต้องระวัง
โรคต่างๆ ช่วงเปิดเทอม
โรคท้องร่วง
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังคือ เชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนมากับน้ำ คือ เชื้อแบคทีเรียหลายๆ ชนิด เช่น อีโคไล (Escherichia Coli: E. coli) ชิเกลล่า (Shigella) ที่อยู่ในอุจจาระ คราบอุจจาระเพียงนิดเดียวเมื่อนำมาส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์จะพบมีเชื้อโรคอยู่นับล้านตัว เมื่อเด็กๆ เล็กๆ ไปเล่นน้ำที่ท่วมขังอาจจะสำลักน้ำที่มีเชื้อจากอุจจาระ และเผลอกลืนน้ำที่มีเชื้อโรคเข้าไป อาจจะทำให้ป่วย ไม่สบายตามมา
ผื่นที่เกิดจากการติดเชื้อทางผิวหนัง
อาการทั่วไปของการติดเชื้อทางผิวหนัง
การติดเชื้อจากน้ำ สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อทางผิวหนังได้ด้วย การติดเชื้อทางผิวหนังที่พบบ่อย เช่น เป็นแผลพุพอง
- การติดเชื้อทางผิวหนังพบได้บ่อยในเด็กเล็กๆ
- เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังบริเวณหนังกำพร้า
- ผื่นจะมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใส และกลายเป็นหนองอย่างรวดเร็ว
- เมื่อตุ่มแตกออก จะมีลักษณะเป็นสะเก็ด บางคนมีน้ำเหลือง
- มักพบบริเวณใบหน้า ลำตัว และแขนขา ซึ่งก็คือบริเวณที่เด็กๆ สามารถเอื้อมมือไปเกาเองได้นั่นเอง
ถ้ามาพบคุณหมอแต่เนิ่นๆ ส่วนใหญ่จะไม่มีแผลเป็นหรือโรคแทรกซ้อน
การรักษาอาการติดเชื้อทางผิวหนัง
การรักษา ใช้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานและชนิดทา 7 - 10 วัน รับประทานยากลุ่มแอนติฮีสตามีนเพื่อลดอาการคัน หลีกเลี่ยงการเล่นคลุกคลีหรือใช้ของร่วมกับเด็กคนอื่นๆ เพราะเชื้อจะอาจอยู่ตามนิ้วมือหรือผ้าเช็ดตัว
ผื่นที่เกิดจากเชื้อรา
สาเหตุที่ทำให้เกิดเชื้อรา
เชื้อรา สามารถเกิดได้ในเด็กๆ สาเหตุที่ทำให้เกิดเชื้อรา เช่น
- เด็กๆ สวมใส่รองเท้าที่อับชื้น หรืออยู่ในพื้นที่ชื้นแฉะ
- เด็กที่ขี้ร้อน เหงื่อออกมาก
- เด็กที่สวมรองเท้าบูทนานๆ
ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ อาจจะทำให้เกิดอาการต่างๆ ดังนี้
- ผิวมีความอับชื้น มีผื่นเป็นตุ่มใสหรือแห้งๆ เป็นสะเก็ดบางๆ
- บริเวณง่ามนิ้วจะอับชื้นผื่น และมักจะแฉะกว่าบริเวณอื่นและอาจมีกลิ่นร่วมด้วย
บริวณที่มักพบเชื้อรา
โรคเชื้อราเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่าย ซึ่งจะพบได้ตามอุปกรณ์ของใช้ต่างๆ เช่น
- รองเท้า
- พรม หรือผ้าเช็ดเท้า
ถ้าบ้านไหนน้ำท่วมในบ้านด้วย เชื้อราอาจอยู่บริเวณต่างๆ เช่น
- ผนังบ้าน
- วอลเปเปอร์
- ฝ้าเพดาน
ถ้าอุณหภูมิเหมาะสมเชื้อราจะอาศัยอยู่ได้เป็นเวลานาน เป็นแหล่งสะสมของเชื้อต่างๆ และกระจายเชื้อโรคต่างๆนี้ ไปสู่สมาชิกในครอบครัว
การรักษาอาการที่เกิดจากเชื้อรา
การรักษาใช้ยาต้านเชื้อรา ทาต่อเนื่อง 4-6 สัปดาห์ เนื่องจากเป็นโรคที่ใช้ระยะเวลารักษาค่อนข้างนาน หากทายาไม่ครบกำหนดจะทำให้ติดเชื้อซ้ำหรือดื้อยาได้ แนะนำให้พาไปพบคุณหมอ เพื่อทำการขูดเชื้อบริเวณผิวหนังไปตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือเพาะเลี้ยงเชื้อ เนื่องจากการติดเชื้อแต่ละตัวมียาที่ใช้รักษาแตกต่างกัน
นอกจากผื่นจากการติดเชื้อ ผื่นที่พบได้บ่อยคือ ผื่นผิวหนังอักเสบจากการระคายเคือง อาจพบในเด็กเล็กที่ผิวค่อนข้างอ่อนบางและแพ้ได้ง่าย สาเหตุอาจเกิดจากการสัมผัสสารเคมีที่ปนเปื้อนในน้ำ ในน้ำประปา หรือในสระว่ายน้ำที่มีคลอรีนมากกว่าปกติ
บาดแผลโดนน้ำที่ท่วมขังควรทำอย่างไร
ช่วงฝนตกบางครั้งมีน้ำขัง หลังย่ำน้ำหรือลุยน้ำ ควรสำรวจร่างกายว่ามีบาดแผลหรือไม่ และล้างทำความสะอาดด้วยสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ และซับให้แห้ง หากบริเวณแผลโดนน้ำขัง ควรปฏิบัติดังนี้
- ควรล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
- ทำความสะอาดรอบๆ แผลด้วยแอลกอฮอล์
- ทาแผลด้วยเบตาดีน
- รับประทานยาปฎิชีวนะ 7-10 วัน
- พยายามอย่าให้แผลโดนน้ำ เพื่อที่จะให้แผลแห้ง และหายเร็ว
หากมีอาการป่วยควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อตรวจหาสาเหตุที่ถูกต้อง
ขอบคุณบทความจาก
พญ. ฐิตาภรณ์ วรรณประเสริฐ
เเพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนังเด็ก โรงพยาบาลผิวหนังอโศก
© 2021 Osotsapa Company (Limited), All Rights Reserved. Privacy Policy/Terms of Service/CA Transparency Act