ช่วงที่ฝนตก ความชื้นเหมาะต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ทำให้อุบัติการณ์ของการติดเชื้อ เชื้อโรคบางชนิดสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางบาดแผล จากการย่ำน้ำ แล้วเราควรจะดูแลเด็กๆ ในบ้านยังไงดี ไม่ให้เจ้าตัวเล็กป่วยบ่อยๆ
คำแนะนำในการดูแลสุขภาพในช่วงหน้าฝน
ช่วงที่ฝนตก ความชื้นเหมาะต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ทำให้อุบัติการณ์ของการติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ สูงขึ้น
สิ่งที่ควรทำหลังตากฝนมา
- เมื่อถึงบ้านควรถอดชุดที่เปียกออก รวมถึงถุงเท้าและชุดชั้นใน
- รีบอาบน้ำ สระผม
- หลังสระผมแนะนำให้เป่าผมให้แห้ง
โรค และสัตว์พาหะนำโรคช่วงหน้าฝน
โรคฉี่หนู
เชื้อโรคบางชนิดสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางบาดแผล จากการย่ำน้ำ เช่น โรคฉี่หนู เด็กๆอาจได้รับเชื้อจากการสัมผัสเชื้อโดยตรง ปนเปื้อนไปกับอาหารและน้ำ
ผู้ป่วยที่เป็นโรคฉี่หนูจะมีลักษณะอาการดังนี้
- มีไข้ ตาแดง
- ปวดเมื่อยตัว ปวดกล้ามเนื้อ
- และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ตัวเหลือง ตาเหลือง ไตวาย
หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำหรือย่ำดินโคลนที่ชื้นแฉะ เช่น ช่วงกลับจากโรงเรียน ไม่ควรเดินเท้าเปล่า และหลังย่ำน้ำควรทำความสะอาดเท้าด้วยสบู่และเช็ดให้แห้งเพื่อลดการสะสมของเชื้อโรค
ยุง พานะนำโรคช่วงหน้าฝน
ในช่วงหน้าฝน เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์จำพวก มด แมลง และยุง เช่น น้ำที่ขังในภาชนะต่างๆ จะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงอย่างดี ยุงส่วนใหญ่ที่มากับช่วงน้ำท่วมจะมีขนาดและจำนวนเยอะกว่าปกติ
อุปกรณ์กันยุง
ช่วงหน้าฝนเป็นช่วงที่เหมาะให้ยุงเพาะพันธุ์ ดังนั้นเราจึงควรเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับกันยุง ดังนี้
- ตะใคร้หอมหรือทายากันยุง
- กางมุ้งหรืออยู่ในห้องที่มีมุ้งลวด
อาการผื่นแพ้ยุง
นอกจากยุงจะทำให้เด็กๆ เป็นผื่นแพ้ยุงแล้ว ยุงยังเป็นพาหะของโรคต่างๆ ด้วย สำหรับเด็กๆ ที่เป็นผื่นแพ้ยุง หลังยุงกัดควรปฏิบัติดังนี้
- ประคบเย็นบริเวณที่มีผื่น
- ใช้โลชั่นที่มีส่วนประกอบของเมนทอลทาบริเวณที่คัน
- ถ้าผื่นแดงและคันมากอาจใช้ยาสเตียรอยด์อ่อนๆ และรับประทานยากลุ่มแอนติฮีสตามีน
- ถ้าอาการไม่ดีขึ้นจนกลายเป็นตุ่มหนอง หรือเกาจนเลือดออกจะทำให้มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ การรักษาอาจต้องรับประทานยาปฎิชีวนะและทายา
อันตรายจากสัตว์มีพิษ
หลังฝนตกหากมีน้ำขังตามที่อยู่อาศัย สามารถทำให้เกิดอันตรายจากสัตว์มีพิษได้ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง รวมถึงพิษจากแมลงก้นกระดกที่อาจทำให้เกิดผื่นแพ้ ซึ่งสัตว์มีพิษต่างๆ นี้อาจหนีน้ำมาหลบในบ้านหรือที่เก็บของ เช่น ตามลังไม้แห้งๆ มุมของเล่นต่างๆ ไม่ควรให้เด็กๆ เดินตามลำพัง หรือเดินในที่มืดๆ ยามค่ำคืน
นอกจากนี้ควรพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่ปรุงสุก สะอาด รับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่ ผักและผลไม้ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ล้างมือบ่อยๆก่อนและหลังรับประทานอาหาร ไปฉีดวัคซีนตามนัด รวมถึงการฉีดวัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่ประจำปี หากไม่สบายควรไปพบแพทย์ และหากเป็นโรคติดต่อควรให้เด็กๆหยุดเรียนจนกว่าจะหายเพื่อลดการแพร่เชื้อ ก่อนออกจากบ้านควรเตรียมอุปกรณ์ป้องกันฝนให้พร้อม เช่น ร่ม เสื้อกันฝนให้พร้อม เท่านี้เด็กๆก็จะมีสุขภาพดีไปตลอดฤดูฝนแล้วหล่ะค่ะ
ขอบคุณบทความจาก
พญ. ฐิตาภรณ์ วรรณประเสริฐ
เเพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนังเด็ก โรงพยาบาลผิวหนังอโศก
© 2021 Osotsapa Company (Limited), All Rights Reserved. Privacy Policy/Terms of Service/CA Transparency Act