มีหลายๆ สาเหตุที่ทำให้เบบี๋มีไข้ เช่น จากการติดเชื้อ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก ปอดบวม ช่วงเวลาที่มีไข้ ไม่จำเป็นต้องมีไข้ทุกส่วนของร่างกาย ลูกอาจตัวร้อนเฉพาะที่ศีรษะ ลำตัว ขา แต่ฝ่ามือฝ่าเท้าเย็น อาการแทรกซ้อนของไข้ที่ต้องระวัง คือ การชักจากไข้สูง โดยเฉพาะเด็กอายุ 6 เดือนถึง 6 ปี ยาลดไข้จะช่วยบรรเทาอาการไข้ แต่ไม่ใช่การรักษาที่สาเหตุ หลังทานยาลดไข้ ยาจะออกฤทธิ์นาน 4-6 ชั่วโมง เมื่อยาหมดฤทธิ์ลูกก็จะมีไข้ใหม่ การให้ยาลดไข้ คุณหมอจะให้ตามน้ำหนักตัว และการรับประทานยาลดไข้พาราเซทามอลในขนาดสูงเกินไป อาจมีผลต่อตับ
การที่เด็กมีไข้ คือ ภาวะที่อุณหภูมิร่างกายสูงกว่าปกติ หรืออุณหภูมิสูงกว่า 37.2 องศาเซลเซียส เมื่อใช้ปรอทวัดทางปาก หรืออุณหภูมิสูงกว่า 37.7 องศาเซลเซียส เมื่อใช้ปรอทวัดทางทวารหนัก
อาการไข้เกิดจากจากหลายสาเหตุ ดังนั้นระยะเวลาการเป็นไข้ในแต่ละโรคจะแตกต่างกัน การรับประทานยาลดไข้ จะช่วยบรรเทาอาการไข้ แต่ไม่ใช่การรักษาที่สาเหตุ ยาลดไข้ที่มีขายตามร้านขายยา และที่ใช้ในโรงพยาบาลมีหลายแบบ เช่น ยาพาราเซตามอล ยาแอสไพริน
ยาพาราเซตามอล
ยาพาราเซตามอลเป็นยาลดไข้ที่เลือกใช้อันดับแรก โดยในเด็กเล็กจะเลือกใช้ชนิดน้ำ โดยมีแบบหยด จะมีปริมาณพาราเซตามอล 100 มิลลิกรัมต่อ 1 ซีซี รูปแบบน้ำเชื่อมและน้ำแขวนตะกอนจะมียา 120 มิลลิกรัมต่อ 1 ช้อนชาหรือ 5 ซีซี แบบ 160 มิลลิกรัมต่อ 1 ช้อนชา และแบบ 250 มิลลิกรัมต่อ 1 ช้อนชา ในเด็กโตและผู้ใหญ่รับประทานแบบเม็ด ซึ่งมีขนาดเม็ดละ 325 มิลลิกรัม และ 500 มิลลิกรัม ในผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลที่ไม่สามารถรับประทานยาได้ เลือกใช้แบบฉีดหรือเหน็บทางทวารหนัก การรับประทานยาพาราเซตามอลเกินขนาดหรือทานต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจทำให้การทำงานของตับผิดปกติ เนื่องจากยาพาราเซตามอลมีหลายขนาดและความเข้มข้นแตกต่างกัน จึงไม่ควรซื้อยารับประทานเอง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
ยากลุ่มNSAIDS
ยากลุ่มNSAIDS (non-steroidal Anti-inflammatory drug) หรือที่คุณแม่ๆเรียกกันว่า ยาลดไข้สูง เป็นยาลดการอักเสบซึ่งใช้บรรเทาอาการปวดในโรคข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งเมื่อรับประทานจะช่วยให้ไข้ลง แต่ยาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ระคายเคืองกระเพาะอาหารและหากทานยากลุ่ม NSAIDS ในเด็กที่เป็นโรคไข้เลือดออกอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น
ยากลุ่มแอสไพริน
ยากลุ่มแอสไพรินใช้ลดไข้การใช้บ้าง แต่ค่อนข้างน้อยมาก เนื่องจากยาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ในผู้ป่วยรายที่รับประทานเกินขนาดอาจทำให้ซึมลง ชัก และเสียชีวิต
ทำอย่างไรหากลูกมีไข้
นอกจากการให้รับประทานยาลดไข้ การเช็ดตัวก็เป็นสิ่งสำคัญ
ขั้นตอนการเช็ดตัว
- ก่อนเช็ดตัวแนะนำให้ถอดเสื้อผ้าลูกออกก่อน
- ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำหมาดๆ
- เช็ดตัวที่ถูกต้องให้ลูก โดยควรเช็ดทุกส่วนของร่างกาย ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เน้นตามข้อพับ รักแร้ คอ นาน 15-30 นาที หรือจนไข้ลง
- หากเวลาผ่านไปแล้วมีไข้ใหม่ ให้เช็ดซ้ำตัวซ้ำอีก
หากเช็ดตัวถูกวิธีพร้อมทานยาลดไข้ ไข้ควรจะลดลงในสามสิบนาที และแนะนำให้ปิดพัดลม หรือเครื่องปรับอากาศขณะเช็ดตัว ไม่ควรใช้น้ำแข็งเช็ดตัว หลังเช็ดตัวจนไข้ลงให้ซับตัวให้แห้ง และสวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี หากเบบี๋มีไข้สูง ซึม กินได้น้อย แนะนำให้รีบพาไปพบแพทย์ และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
อาการไข้เกิดได้จากหลายสาเหตุ ถ้าไม่สบาย ป่วย หรือมีอาการผิดปกติ แนะนำให้พบแพทย์
ขอบคุณบทความจาก
พญ. ฐิตาภรณ์ วรรณประเสริฐ
เเพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนังเด็ก โรงพยาบาลผิวหนังอโศก
© 2021 Osotsapa Company (Limited), All Rights Reserved. Privacy Policy/Terms of Service/CA Transparency Act