โรคไข้เลือดออก หรือโรคติดเชื้อที่อาจมีอาการรุนแรงถึงแก่ชีวิต อาการคล้ายหวัด หรือไม่แสดงอาการเลย สามารถติดต่อกันได้โดยมียุงลายเป็นพาหะ หลังจากถูกยุงกัดจะมีระยะฟักตัว ซึ่งหมายถึง ระยะเวลาตั้งแต่ได้รับเชื้อโรคจนเกิดอาการ ระยะฟักตัวของโรคไข้เลือดออกประมาณ 4-5 วัน
ลักษณะอาการผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก
เมื่อป่วยเป็นไข้เลือดออกจะมีลักษณะอาการ ดังนี้
- ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยตามตัว
- มีไข้สูง
- อาจมีจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายตามแขน ขา ลำตัว
- อาจมีเลือดออก เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน
- อาเจียนหรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด
- ตับโต กดเจ็บบริเวณชายโครงด้านขวา
ถ้าอาการรุนแรง จะมีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลวหรือช็อกได้ ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะมีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็วและจะเสียชีวิตภายใน 12-24 ชั่วโมง
เนื่องจากไข้เลือดออก จะมีไข้สูง เช็ดตัวและรับประทานยาลดไข้ ยาพาราเซตามอล ไม่ควรใช้ยาลดไข้สูงหรือใช้ยาในกลุ่มแอสไพรินเพราะอาจทำให้มีเลือดออกกระเพาะได้ เด็กๆควรจิบน้ำเกลือแร่บ่อยๆ ตรวจเกร็ดเลือดและความเข้มข้นของเลือด และติดตามอาการกับคุณหมออย่างใกล้ชิด
เคยเป็นไข้เลือดออกแล้ว โตขึ้นจะมีโอกาสเป็นอีกหรือไม่
โรคไข้เลือดออกติดต่อกันได้โดยมียุงลายที่มีเชื้อไวรัสเดงกีกัด ซึ่งเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) มีอยู่ 4 สายพันธุ์ ซึ่งทุกสายพันธุ์มีโอกาสก่อให้เกิดโรคได้ทุกความรุนแรง
เมื่อเป็นไข้เลือดออกครั้งแรก ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่อเดงกีชนิดนั้นตลอดไป และจะมีภูมิข้ามสายพันธุ์อื่นในช่วงสั้นๆ เมื่อภูมิคุ้มกันลดลงและถูกยุงลายกัดอีก ก็จะเป็นไข้เลือดออกได้ใหม่ ดังนั้นเด็กๆ คนหนึ่งกว่าจะโตเป็นผู้ใหญ่อาจเป็นไข้เลือดออกได้มากกว่า 1 ครั้ง
ทำอย่างไร ถ้ามีคนในบ้านหรือมีเพื่อนเป็นไข้เลือดออก
หากชุมชนมีไข้เลือดออกระบาด ทางสาธารณสุขจะจะมีการพ่นสารเคมีและแจกทรายอะเบทเพื่อกำจัดลูกน้ำยุงลาย ซึ่งโรคไข้เลือดออกสามารถป้องกันได้ โดย
1. ป้องกันแหล่งเพาะพันธุ์ยุง หมั่นตรวจดูสิ่งแวดล้อมรอบๆ บ้านเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย แจกัน ถาดรองน้ำตู้เย็น ยางรถยนต์เก่าๆ ขวดแก้ว ภาชนะที่อาจมีน้ำขังหลังใช้ควรให้คว่ำเก็บ ตุ่มน้ำควรมีฝาปิด อาจเลี้ยงปลาสำหรับกินลูกน้ำยุงลาย เช่น ปลาหางนกยูง
2. ระวังไม่ให้ถูกยุงกัด สวมเสื้อผ้าแขนขายาว สีอ่อน หรือทายากันยุง
3. การฉีดวัคซีนป้องกัน
วัคซีนไข้เลือดออกควรหรือไม่ควรฉีด? ใครบ้างที่ควรได้รับวัคซีน และมีผลข้างเคียงอย่างไร
วัคซีนไข้เลือดออกเป็นวัคซีนที่ชนิดเชื้อมีชีวิต แนะนำให้ฉีดในเด็กอายุ 9 ถึง 45 ปี
หลังการนำวัคซีนมาใช้ในประเทศไทย ได้มีการติดตามอาการพบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันโรคไข้เลือดออกนั้น สามารถป้องกันได้ประมาณ ร้อยละ 65 ของผู้ที่ได้รับวัคซีน ซึ่งผู้ที่ได้รับวัคซีนก็ยังมีโอกาสเป็นโรคติดเชื้อเด็งกี่ได้
ได้มีการศึกษาถึงประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันไข้เลือดออกชนิดรุนแรง ซึ่งต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล ได้แก่ ความปลอดภัยของวัคซีน ความคุ้ม และประโยชน์ของวัคซีนในผู้ที่ติดเชื้อ และผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน การประเมินความเสี่ยงของผู้รับวัคซีน ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน เป็นต้น
ทางคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคได้ให้คำแนะนำเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก ดังนี้
ผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคไข้เลือดออกมาก่อน อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหากติดเชื้อไข้เลือดออกซ้ำ ดังนั้นปัจจุบันจึงไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนนี้ในผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน
ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านโรคติดเชื้อไข้เลือดออก ป้องกันได้โดยกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ระวังไม่ให้ถูกยุงกัด สวมเสื้อผ้าแขนขายาว สีอ่อน หรือทายากันยุง
การได้รับวัคซีนไข้เลือดออก ยังไม่สามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกได้อย่างสมบูรณ์ แม้จะฉีดวัคซีนครบแล้วก็ตาม ทั้งนี้หากมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว ทานอาหารได้น้อยลง มีอาการน่าสงสัยว่าอาจเป็นไข้เลือดออก แนะนำให้ไปพบแพทย์
ขอบคุณบทความจาก
พญ. ฐิตาภรณ์ วรรณประเสริฐ
เเพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนังเด็ก โรงพยาบาลผิวหนังอโศก
© 2021 Osotsapa Company (Limited), All Rights Reserved. Privacy Policy/Terms of Service/CA Transparency Act