จะให้ลูกนอนคว่ำหรือนอนหงายดีนะ? เรื่อง ท่านอนลูก นั้นเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนต้องขบคิด เพราะท่านอนแต่ละท่า ต่างก็มีข้อดีข้อเสียที่ต่างกัน มาดูกันดีกว่าว่า ท่านอนแบบไหน จึงจะดีต่อลูกของคุณมากที่สุด ทำให้ลูกนอนหลับสบายที่สุด ไม่สะดุ้งตื่นขึ้นมางอแงง่ายๆ
ข้อดี – ข้อเสียของท่านอนแต่ละท่า
• นอนคว่ำ
ข้อดี : ศีรษะจะโหนก ทุย ดูสวย ลูกจะหลับสนิท ไม่สะดุ้ง หรือผวาตื่น
ข้อเสีย : ทำให้เห็นหน้าและการหายใจของลูกขณะหลับไม่ชัดเจน เพิ่มความเสี่ยงของภาวะ SIDS (Sudden Infant Death Syndrome) หรือโรคไหลตายในทารก โรคนี้มักพบในทารกอายุ 2-4 เดือน แต่ไม่มีสถิติการเสียชีวิตของทารกจากโรคนี้ในประเทศไทย
• นอนหงาย
ข้อดี : สังเกตการหายใจ หน้าตา ท่าทาง และลักษณะของลูกได้ชัดเจน ลดความเสี่ยงจากภาวะ SIDS ได้ ป้องกันการมีอะไรมาปิดใบหน้าของลูกได้ดีกว่า
ข้อเสีย : ลูกจะตื่นง่าย อาจทำให้ศีรษะแบบ
• นอนตะแคง
ข้อดี : สามารถสังเกตการหายใจ และใบหน้าของลูกได้ดีกว่าการนอนคว่ำ และรูปศีรษะนูนสวยกว่าการนอนหงาย
ข้อเสีย : ถ้านอนตะแคงด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป ก็อาจทำให้รูปศีรษะเบี้ยวได้เช่นกัน ความเสี่ยงต่อภาวะ SIDS ต่ำกว่าการนอนคว่ำ แต่ยังคงมีอยู่
ท่านอนลูก ที่เหมาะสมแต่ละช่วงอายุ
• แรกเกิด – 3 เดือน : นอนหงายและนอนตะแคง
โดยเฉพาะในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกที่กระดูกคอและกระดูกสันหลังของลูกยังไม่แข็งแรงพอ คุณพ่อคุณแม่ควรจัดศีรษะให้ลูกนอนสลับด้านบ่อยๆ ระหว่างหลับ เพราะจะทำให้ศีรษะทุยสวย และช่วยให้ลูกมองเห็นสภาพแวดล้อมได้ง่าย ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการชองลูกได้ ไม่ควรให้นอนคว่ำ เนื่องจากเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในขณะนอนหลับจากภาวะ SIDS
• 4 – 6 เดือน : นอนคว่ำ
ลูกของคุณสามารถนอนนอนคว่ำได้อย่างปลอดภัยแล้ว กระดูกคอเริ่มแข็ง และลูกยกคอได้แล้ว การนอนคว่ำยังช่วยลดการนอนสะดุ้งหรือผวาตื่นได้อีกด้วย แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องดูแลลูกอย่างใกล้ชิด หมอนต้องไม่นิ่มเกินไป เพราะอาจทำให้ลูกขาดอากาศหายใจได้
• 7-12 เดือน : นอนได้ทุกท่า
ทารกวัยนี้สามารถนอนได้ทั้ง 3 ท่า เนื่องจากคอแข็งแรงพอ และสามารถพลิกตัวเองได้ แต่ถ้าลูกนอนหงายหรือนอนตะแคง แล้วสะดุ้งตื่นง่าย ให้ใช้ผ้าขนหนูพับเป็นทางยาวห่มบริเวณหน้าอกลูกเอาไว้ จะช่วยให้ลูกหลับได้ง่ายขึ้น
ท่านอนแต่ละท่า ต่างก็มีข้อดีข้อเสียที่ต่างกันไป ซึ่งความเหมาะสมของ ท่านอนลูกทั้ง 3 ท่านั้น นอกจากจะต้องดูช่วงอายุของลูกแล้ว เด็กแต่ละคนก็อาจจะมีความชอบที่ต่างกันด้วย คุณพ่อคุณแม่ควรลองเปลี่ยนท่านอนให้ลูกเรื่อยๆ เพื่อหาท่านอนที่ลูกของคุณนอนหลับสบายที่สุด สิ่งสำคัญก็คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตตัวลูก และสภาพสิ่งแวดล้อมรอบตัวลูกอยู่เสมอ เช่น บนที่นอนของลูกจะต้องไม่มีอะไรที่จะมาปิดหน้าลูกได้ระหว่างที่ลูกนอนหลับอยู่ โดยเฉพาะเด็กที่มีนิสัยชอบคว้า เป็นต้น
© 2021 Osotsapa Company (Limited), All Rights Reserved. Privacy Policy/Terms of Service/CA Transparency Act