เคยมั้ยคะ ที่ก้มลงหอมแก้มลูกน้อย แล้วก็พบกับความจริงอันโหดร้ายว่าลูก หูเหม็น ! รู้หรือไม่ว่า กลิ่นเหม็นนี้เกิดจากอะไร และคุณพ่อคุณแม่ควรจะดูแลความสะอาดหูของลูกอย่างไร เพื่อไม่ให้มีกลิ่นเหม็น วันนี้เรามีเคล็ดลับดีๆเกี่ยวกับการดูแลความสะอาดหูของลูกน้อยมาฝากกันค่ะ
สาเหตุของ หูเหม็น
- ไม่เคยล้างหู พบได้บ่อยที่สุด เพราะอาจไม่มีการล้างทำความสะอาดใบหูของลูกตั้งแต่แรกเกิด และการทำความสะอาดด้วยการใช้ไม้พันสำลีเช็ดเบาๆ ตามร่องใบหูก็อาจไม่เพียงพอ สามารถแก้ไขได้โดยการ เมื่อคุณพ่อคุณแม่อาบน้ำสระผมให้ลูก ให้ล้างหูลูกด้วยน้ำและแชมพู โดยเอียงหูที่กำลังทำความสะอาดให้ต่ำ เพื่อกันไม่ให้น้ำไหลเข้ารูหู
- ขี้หูอุดตัน หากเป็นไปได้อย่าทำเองจะดีกว่า เพราะคุณอาจทำให้เยื่อแก้วหูหรือผนังรูหูของลูกเป็นอันตรายได้ ให้ผู้ชำนาญหรือแพทย์หูคอจมูกเป็นผู้เอาออก หรือใช้ยาละลายขี้หูแล้วไหลออกมาเป็นขี้หูเปียก
- มีการติดเชื้อที่หู เช่น หูชั้นนอกหรือหูชั้นกลางอักเสบ อาจเกิดจากเชื้อราหรือแบคทีเรีย ควรพาลูกไปพบแพทย์
- มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในรูหู เช่น ซากแมลง เศษอาหาร ไม่ควรพยายามเอาออกเอง เพราะอาจเป็นอันตรายต่อเยื่อแก้วหู ควรให้แพทย์หูคอจมูกเป็นผู้เอาออกให้
- ผิวหนังบริเวณหูอักเสบจากการติดเชื้อ หรือเกิดจากอาการภูมิแพ้หรือแพ้สารสัมผัส
การทำความสะอาดหูของลูกน้อย
เนื่องจากความจริงแล้ว ขี้หูไม่มีโทษอะไร การดูแลทำความสะอาดหูของลูกจึงง่ายเป็นอย่างยิ่ง โดยควรทำความสะอาดเฉพาะใบหูและบริเวณปากรูหู ให้ใช้สำลีหรือผ้าขนหนูนุ่มๆ ชุบสบู่หรือน้ำ เช็ดเบาๆ บริเวณใบหู หรือ หลังอาบน้ำสระผมให้ลูกน้อยเสร็จแล้ว ให้ใช้ผ้าเช็ดตัวซับน้ำตามใบหูให้แห้ง ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
ข้อควรระวังในการดูแลหูของลูกน้อย
- หากจะแคะหูให้ลูกจริงๆ ต้องใช้เครื่องมือที่สะอาด และใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพื่อป้องกันอันตรายและการติดเชื้อจากเครื่องมือ และหากแคะลึกเกินไป ก็อาจทำให้แก้วหูทะลุได้
- ไม่ควรใช้แอลกอฮอล์ทำความสะอาดรูหู เพราะจะทำให้ผิวหนังบริเวณรูหูแห้ง อาจเกิดการระคายเคืองขึ้นได้
- การใช้คอดตอนบัดที่ขนาดใหญ่หรือเท่ากับรูหูปั่นหู อาจเป็นการดันขี้หูให้ลึกลงไปอีก และทำให้เกิดปัญหาขี้หูอุดตัน
- ระวังอย่าให้น้ำเข้ารูหู ขณะอาบน้ำหรือสระผมให้ลูก
เรื่องขี้หู อาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก แต่ก็มองข้ามไม่ได้ เพราะถ้าดูแลไม่ถูกวิธี หูของลูกคุณอาจเป็นอันตราย และทำให้ลูกของคุณมีปัญหาเรื่องการได้ยินเลยทีเดียว คุณพ่อคุณแม่จึงควรดูแลหูของลูกอย่างใกล้ชิด และทำอย่างระมัดระวังมากที่สุด
© 2021 Osotsapa Company (Limited), All Rights Reserved. Privacy Policy/Terms of Service/CA Transparency Act