ลูกน้อยจะเริ่มฝึกโยคะได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือนขึ้นไป ซึ่งโดยทั่วไปเด็กวัย 3-5 เดือนจะคอแข็งแล้วสามารถนอนนิ่งๆ ได้จึงเป็นช่วงเวลาอันเหมาะสมที่คุณพ่อคุณแม่จะฝึกให้ลูกน้อยทำท่าต่างๆ และควรฝึกตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้กับทารก เมื่อโตขึ้นจะสามารถทำท่ายากๆ ได้มากขึ้น
การฝึกโยคะให้กับลูกน้อย จะทำให้ลูกน้อยมีพัฒนาการด้านร่างกาย สมอง กระตุ้นการไหลเวียนเลือด ช่วยบรรเทาอาการท้องผูก ทำให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น ทำให้เด็กมีจินตนาการ อีกทั้งยังส่งผลด้านจิตใจให้เด็กโตขึ้นอย่างมีความสุข มีความรักต่อผู้อื่น และระหว่างการฝึก คุณแม่ควรพูดคุยกับลูกระหว่างทำ การประสานสายตา การพูดจา จะช่วยให้ลูกน้อยสัมผัสได้ถึงความรัก และความอ่อนโยนที่แม่ให้ ส่งผ่านความรักได้จากการสัมผัสลูกน้อย ส่งผลให้อารมณ์ และจิตใจของเจ้าตัวเล็กเบิกบานได้อีกด้วย
ท่าโยคะสำหรับลูกน้อย
1. ให้ลูกนั่งหันหลังทับบนตัก แล้วจับขาลูกยกขึ้นทีละข้างจรดศีรษะ ท่านี้ช่วยให้ขาลูกน้อยยืดตรง ขับลมและแก๊สในท้อง ทำให้การย่อยอาหารมีประสิทธิภาพดี
2. จับ ลูกนอนหงาย จับปลายเท้าทั้งสองแล้วยกขึ้นพร้อมกันจรดศีรษะ ท่านี้ช่วยขับลม นวดอวัยวะในช่องท้อง ยืดกระดูกสันหลัง บริหารขาและหลังให้เจ้าตัวเล็ก
3. เวลาลูกนั่งเหยียดขา ค่อยๆ จับลูกก้มพับตัวไปข้างหน้า ศีรษะจรดเท้า พยายามให้ขาลูกน้อยชิดกัน (ได้ประโยชน์เหมือนท่าที่ 2)
4. ท่าสุนัข ขณะที่ลูกคลาน สามารถจับลูกทำท่าสุนัข โดยยกสะโพกลูกขึ้น ขณะที่ขาและมือยังอยู่ที่พื้น คุณแม่สามารถช่วยจับขาลูกให้ยืดตรงได้ ท่านี้ช่วยให้เลือดมาเลี้ยงศีรษะได้มาก กระตุ้นพัฒนาการสมอง ทำให้ขาไม่โก่ง และแขนแข็งแรงขึ้น
5. ท่าแยกขา คุณแม่นั่งข้างหลังลูก จับขาลูกแยกออกด้านข้าง เมื่อลูกโน้มตัวไปด้านหน้า คุณแม่ยังจับขาไว้ จะทำให้เด็กได้ยืดตัวมากขึ้น ช่วยดัดขาให้ตรงขึ้นด้วย
6. ท่าต้นไม้ จับลูกยืน และจับแขนพนมเหยียดขึ้นด้านบน แนบใบหู จะทำให้เด็กได้ยืดกระดูกสันหลัง และบริหารแขน
7. ท่าตั้งศีรษะ จับขาลูกยกขึ้น เพื่อให้เลือดมาเลี้ยงศีรษะ โดยธรรมชาติเด็กจะประคองมือตัวเองที่พื้น (ท่านี้ต้องเป็นคุณแม่ทำให้เท่านั้น เพราะจะทำด้วยความรักและระมัดระวัง)
© 2021 Osotsapa Company (Limited), All Rights Reserved. Privacy Policy/Terms of Service/CA Transparency Act