การอักเสบของผิวหนังบริเวณที่มีต่อมไขมันอยู่จำนวนมาก เช่น หนังศีรษะ คิ้ว และใบหน้า เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก ส่วนใหญ่เริ่มมีอาการอายุ 3-12 สัปดาห์ เกิดจากการอักเสบจากการเพิ่มจำนวนของเชื้อยีสต์
4 ปัญหาผิวลูก
1. ต่อมไขมันอักเสบ
ต่อมไขมันอักเสบ จากการอักเสบของผิวหนังบริเวณที่มีต่อมไขมันอยู่จำนวนมาก เช่น หนังศีรษะ คิ้ว และใบหน้า เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก ส่วนใหญ่เริ่มมีอาการอายุ 3-12 สัปดาห์ เกิดจากการอักเสบจากการเพิ่มจำนวนของเชื้อยีสต์ (Pityrosporum ovale) ซึ่งปกติจะอยู่ในรูขุมขนและกินไขมันและโปรตีนของผิวหนังเป็นอาหาร ผื่นจะมีลักษณะเป็นขุยสีขาวหรือสีเหลืองอ่อนกระจายทั่วศีรษะ โดยผมไม่ร่วงและจะพบผื่นบริเวณใบหน้า หลังหู คิ้ว หน้าอกและตามซอกข้อพับหรือบริเวณอวัยวะเพศร่วมด้วยได้
วิธีดูแล-ป้องกันผิวลูก โรค นี้อาการไม่รุนแรง ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นตอนอายุ 6-8 เดือน และอาจจะมีอาการอีกครั้งช่วงเข้าสู่วัยรุ่น คุณแม่ควรเลือกใช้แชมพูและผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กนะคะ หลีกเลี่ยงที่มีน้ำหอม เพราะอาจทำให้แพ้และผื่นเพิ่มมากขึ้น ถ้าปฏิบัติตามแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบคุณหมอเฉพาะทาง
2. ผิวมีผดหนอง
เด็กเริ่มมีไข้และมีตุ่มแดง อาจเกิดจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใสได้ค่ะ ลักษณะตุ่มจะเริ่มจากตุ่มสีแดงแล้วกลายเป็นตุ่มน้ำ รอบๆ ตุ่มจะค่อนข้างแดง ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มหนองได้ แต่โรคอีสุกอีใสส่วนใหญ่ผื่นจะขึ้นเป็นชุดๆ ลักษณะสำคัญคือ จะเห็นผื่นหลายๆ ระยะในบริเวณเดียวกัน นอกจากที่ผิวหนังแล้วยังพบตุ่มในปากหรือบริเวณศีรษะร่วมด้วยได้
วิธีดูแล-ป้องกันผิวลูก ปัจจุบันมีวัคซีนโรคอีสุกอีใส สามารถลดอัตราการเกิดโรคและความรุนแรงของโรคได้ค่ะ โดยเริ่มฉีดเมื่ออายุ 1 ปี วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ร้อยละ 95-98 มีความปลอดภัยสูง และช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคงูสวัด เด็กๆ ที่ฉีดวัคซีนแล้วยังมีโอกาสเป็นโรคได้ แต่อาการของโรคและผื่นจะรุนแรงน้อยกว่าค่ะ
3. ผิวติดเชื้อแบคทีเรีย
ผิวลูกอาจติดเชื้อแทคทีเรียที่เรียกโรค Impetigo เป็นการติดเชื้อของผิวหนัง บริเวณหนังกำพร้า ผื่นเริ่มแรกจะเป็นเม็ดแดงๆ ต่อมาอาจกลายเป็นตุ่มน้ำใส แตกและแห้งกลายเป็นสะเก็ดสีขาวปนเหลือง หรือน้ำตาลอ่อน บางครั้งอาจมีน้ำเหลืองซึมออกมาได้ ส่วนใหญ่จะพบผื่นบริเวณลำตัวใบหน้า และขา
วิธีดูแล-ป้องกันผิวลูก ควรตัดเล็บลูกให้สั้นและล้างมือบ่อยๆ ทำความสะอาดผิวหนัง เสื้อผ้า เพื่อช่วยลดอัตราการเกิดโรค เนื่องจากผื่นคัน เมื่อเกาบริเวณที่มีตุ่มหนองหรือแผล เชื้อจะไปอยู่ที่นิ้วมือ เล็บ หรือผ้าเช็ดตัว รอยถลอกจากการเกาจะทำให้การติดเชื้อลามไปบริเวณอื่นๆ ทั่วร่างกาย ขณะที่มีผื่นไม่ควรให้น้องเล่นคลุกคลีกับเด็กคนอื่นๆ เพราะโรคอาจติดต่อได้โดยการสัมผัส
4. ผื่นผ้าอ้อม
ผื่นผ้าอ้อม หรือ Diaper Dermatitis ส่วนใหญ่พบบ่อยในเด็กเล็ก อายุ 3-18 เดือน พบบริเวณที่สวมผ้าอ้อม ระยะแรกผื่นแดงพบตามส่วนนูนที่สัมผัสกับผ้าอ้อมที่เปียกขึ้น ได้แก่ บริเวณต้นขาด้านใน ก้นอวัยวะเพศ ผิวหนังบริเวณที่อยู่ลึกที่ไม่สัมผัสกับผ้าอ้อมจะไม่มีผื่น ต่อมาผื่นจะแดงมากขึ้น เป็นตุ่มนูน หรือตุ่มน้ำ และรอยถลอกได้ สาเหตุเกิดได้จากหลาย ๆ ปัจจัย เช่น สัมผัสสารระคายเคือง ปัสสาวะและอุจจาระ หรือแพ้สารสัมผัส
วิธีดูแล-ป้องกันผิวลูก ทำความสะอาดผิวหนังให้แห้งอยู่เสมอหลังปัสสาวะ และอุจจาระ ควรล้างด้วยน้ำสะอาด แล้วซับให้แห้ง ถ้าใช้ผ้าอ้อมที่เป็นผ้า ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกทันทีหลังปัสสาวะ และอุจจาระ ผ้าอ้อมควรซักด้วยสบู่ หรือน้ำยาสำหรับเด็กที่ลูกไม่แพ้ และล้างให้สะอาด เปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อยๆ เพื่อลดการอับชื้น สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปให้ลูก ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน สวมใส่สบาย ดูดซับและระบายอากาศได้ดี ร่วมกับการใช้ผลิตภัณฑ์เคลือบผิวอย่างเหมาะสม จะช่วยลดการเกิดผื่นได้ สำหรับบริเวณรอบๆ ทวารหนัก ถ้ามีผื่นแดงหลังถ่ายเหลวนานๆ การทาสารเคลือบ เช่น Zinc Oxide ซึ่งมีส่วนประกอบของสังกะสี จะช่วยป้องกันไม่ให้ผิวสัมผัสกับอุจจาระและปัสสาวะโดยตรง และช่วยป้องกันการอับชื้นได้ด้วย
ถ้าเราดูแลผิวลูกอย่างถูกวิธี และรู้วิธีป้องกัน เพียงเท่านี้ 4 ปัญหาผิวลูก ก็ไม่สามารถกล้ำกรายลูกน้อยได้ค่ะ
© 2021 Osotsapa Company (Limited), All Rights Reserved. Privacy Policy/Terms of Service/CA Transparency Act