ลูกกัดหัวนม เป็นเรื่องปกติที่คุณแม่ทุกคนที่ให้นมลูกต้องเจอ แต่ถ้าคุณแม่ทนเจ็บให้นมลูกต่อไปโดยที่ไม่ทำอะไรเลย ก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องนะคะ เพราะลูกไม่รู้ว่าคุณแม่กำลังเจ็บอยู่ และจะกัดต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งอาจลุกลามจนทำให้เกดิอาการเต้านมอักเสบและไม่สามารถให้นมลูกได้ รวมถึงทำให้คุณแม่มีอาการ หัวนมแตก ได้อีกด้วย แต่ปัญหา ลูกชอบกัดหัวนม นั้นแก้ได้ไม่ยาก และวันนี้เราก็ได้รวบรวมเทคนิคในการรับมือกับปัญหานี้มาฝากคุณแม่กันแล้ว
ทำไมลูกถึง กัดหัวนม ?
การที่ ลูกกัดหัวนม นั้น เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น
• ท่าให้นมไม่ถูกต้อง
หากคุณแม่อุ้มลูกเทคนิคกินนมไม่ถูกวิธี ไม่ได้องศา ลูกดูดนมไม่ลึกถึงลานนม หรืออ้าปากไม่กว้างพอ ก็จะทำให้ลูกดูดเฉพาะหัวนม เมื่อเป็นเช่นนี้ ไม่นานปากลูกก็จะหลุดจากหัวนมและงับหัวนมแม่ได้
• สนใจสิ่งแวดล้อม
ลูกอาจถูกดึงดูดความสนใจไปหาอย่างอื่นระหว่างกินนมได้ เช่น มีคนเดินผ่าน หรือมีเสียงคนพูดคุยกัน คุณแม่จึงควรให้นมลูกในที่เงียบสงบ เพื่อให้ลูกมีสมาธิในการกินนม
•ฟันของลูกกำลังจะขึ้น
เมื่อฟันของลูกกำลังจะขึ้น ลูกจะมีอาการคันเหงือก ทำให้อยากงับนู่นนี่เพื่อบรรเทาอาการปวดเหงือก และอาจเผลองับหัวนมแม่ได้
การดูแลรักษาหัวนมเมื่อ หัวนมแตก
หากลูกกัดหัวนมจนคุณแม่มีอาการเจ็บหัวนม หัวนมแตก สามารถแก้ไขได้โดย
1. บีบเอาน้ำนมออกมาทาแผล แล้วผึ่งลมให้แห้ง โดยไม่ต้องใส่เสื้อชั้นใน น้ำนมจะช่วยสมานแผลให้หายเร็วขึ้น อาจทานยาพาราเซตามอลเพื่อลดอาการปวดได้
2. ถ้าเจ็บมากจนทนไม่ไหว ให้ลูกงดดูดนมแม่ 1-2 วัน แล้วบีบน้ำนมออกทุก 2-3 ชั่วโมง และป้อนนมลูกด้วยถ้วยหรือช้อนไปก่อน ไม่ควรให้ลูกดูดนมจากขวดนม เพราะจะทำให้ลูกเกิดความสับสน และอาจติดการดูดจุกนมได้
3. ให้ลูกอมหัวนมให้ลึกขึ้น และดูดนมแม่ในท่าที่ถูกต้อง ซึ่งจมูก แก้ม และคางของลูกควรสัมผัสกับเต้านมทั้งหมด ริมฝีปากของลูกควรแบะออกเหมือนปลา
4. อย่าหยุดให้นมลูก เพราะจะทำให้น้ำนมของคุณแม่ลดลง
5. ไม่ต้องล้างหัวนมก่อนให้ลูกดูดนม รวมถึงไม่ใช้สบู่ แอลกอฮอล์ฟอกหรือทาหัวนม ไม่ใช้น้ำอุ่นหรือร้อนเช็ดทำความสะอาดหัวนม เพราะจะทำให้ผิวแห้ง
6. หากอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือคลินิกนมแม่ใกล้บ้าน
ปัญหาลูกกัดหัวนม และปัญหาหัวนมแตก เป็นเรื่องปกติที่แม่ทุกควรเตรียมตัวเตรียมใจเอาไว้บ้าง อย่าเพิ่งท้อ หรือหยุดให้นมลูกไปเลยนะคะ เพราะไม่ว่าจะมีอุปสรรคมากแค่ไหน มันก็คุ้มค่ากับประโยชน์ที่ลูกจะได้รับจากการกินนมแม่อย่างแน่นอน
เมื่อลูกกัดหัวนม แต่คุณแม่ไม่ห้ามปราม หรือทำอะไรสักอย่างเพื่อหยุดพฤติกรรมนี้ ลูกก็จะกัดต่อไป โดยที่ไม่รู้ว่ากำลังทำให้คุณแม่เจ็บอยู่ แถมยังอาจหัวเราะเอิ๊กอ๊ากเพราะคิดว่ากำลังเล่นกับคุณแม่อยู่ก็ได้นะคะ คุณแม่จึงควรรีบหาทางแก้เสียแต่เนิ่นๆ เพราะหากปล่อยให้ลูกกัดหัวนมบ่อยๆ อาจทำให้ หัวนมแตก และลุกลามเป็นแผลอักเสบได้ ซึ่งวิธีรับมือกับปัญหา ลูกกัดหัวนม สามารถทำได้โดย
• อย่ากระชากออก
เมื่อถูกลูกกัดที่หัวนม อย่าดึงลูกออกจากเต้าทันทีนะคะ เพราะหัวนมจะถูกดึง และทำให้ลูกกัดแรงขึ้นไปอีก จนอาจถึงขั้นเลือดออกได้
• ขัดขวางการกัด
เมื่อคุณแม่รู้สึกว่าลูกกำลังจะเริ่มกัดหัวนม ให้เอานิ้ววางไว้ใกล้ๆ เต้านม พอลูกเริ่มกัด ให้สอดนิ้วเข้าปากลูก เพื่อกันและดึงหัวนมออก
• บอกให้ลูกรู้ว่าแม่เจ็บ
เมื่อลูกกัด ให้คุณแม่ทำเป็นสะดุ้ง และบอกลูกอย่างจริงจังว่า อย่ากัด แม่เจ็บ อย่ายิ้มให้ลูกด้วยเด็ดขาด เพราะเดี๋ยวลูกจะเข้าใจว่าคุณแม่เล่นด้วย และกัดทุกครั้งที่กินนมได้ค่ะ
• ระงับการหายใจ
ถ้าลูกกัดหัวนม ให้ดันศีรษะลูกเข้าชิดกับเต้านมเพื่อให้หายใจไม่สะดวก หรือบีบจมูกลูกเบาๆ เพื่อให้ลูกอ้าปากคายหัวนม พอลูกงับก็บีบจมูก งับอีกก็บีบอีก จนลูกเรียนรู้ว่าไม่ควรกัดอีกค่ะ
• หยุดให้นมทันที
ปิดเสื้อไม่ให้ลูกดูดนมต่อทันทีที่ลูกกัด หากคุณแม่ดุลูกแล้วว่า ทำแบบนี้แม่เจ็บ แต่ก็ยังไม่ได้ผล ให้ปิดเสื้อหยุดให้นมแล้ววางลูกลงทันที ไม่ให้ลูกดูดนมต่อ ลูกจะเรียนรู้ว่าทำแบบนี้ไม่ดีและไม่ทำอีก
• ทำให้ลูกรู้สึกสบายใจ
เวลาให้นมควรโอบกอดและจ้องตาลูก ให้ความอบอุ่นกับลูก อย่าทำให้ลูกตกใจ เช่น เอามือตบปากลูก ตะโกนใส่หน้าลูก ร้องไห้ฟูมฟาย ทำหน้าถมึงทึง เพราะจะทำให้ลูกไม่กล้าดูดนมแม่อีก
• หาอย่างอื่นให้กัดแทน
หาอย่างอื่นให้ลูกกัดแทน เช่น ของเล่นยางที่กัดได้ อาหารที่เหมาะกับการกัดแทะ เช่น ขนม ผักหรือผลไม้ อย่างขนมปังกรอบหรือแอปเปิ้ล
• สังเกต และเลือกเวลาให้นมลูก
เด็กบางคนจะกัดเวลาง่วง บางคนกัดเวลาหิว บางคนกัดเวลาอิ่ม บางคนกัดเวลาหลับ ให้สังเกตพฤติกรรมของลูก และถ้าเป็นไปได้ ก็ให้เลือกเวลาให้นมในช่วงที่ปลอดภัยกว่าค่ะ
• ชมเชยลูก
เมื่อลูกดูดนมอย่างนุ่มนวล ไม่กัดนมแม่ คุณแม่ควรให้รางวัลด้วยการพูดชม ยิ้ม กอด หรือจูบลูก
• หรือว่านมจะไม่พอ?
เด็กบางคนจะกัดหัวนมเมื่อน้ำนมไม่ไหลทั้งที่ยังไม่อิ่ม คุณแม่จึงควรพยายามกระตุ้นให้มีการสร้างน้ำนมมากขึ้น
© 2021 Osotsapa Company (Limited), All Rights Reserved. Privacy Policy/Terms of Service/CA Transparency Act