การฝึกคว่ำ หรือที่บางคนเรียกกันว่า Tummy Time คืออีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการให้กับเบบี๋ได้หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น กล้ามเนื้อคอ มือ แขน ขา หรือระบบประสาท นอกจากนี้ การพลิกคว่ำยังเป็นอีกหนึ่งสเตปสำคัญ ก่อนที่ลูกน้อยของคุณจะลุกขึ้นนั่ง คลาน และเดินอีกด้วย แต่จู่ๆ จะให้เบบี๋ตัวน้อยพลิกคว่ำได้เอง ก็ออกจะยากไปสักหน่อย มาดูกันดีกว่าว่า เราจะสามารถช่วยให้เบบี๋ ฝึกคว่ำ ได้ยังไงบ้าง
เคล็ดลับ จับเบบี๋ ฝึกคว่ำ
เมื่อเบบี๋อายุได้ 2-3 เดือน ก็จะเริ่มพลิกตัวจากท่านอนหงายเป็นนอนตะแคง หากช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่มาเล่นหรือหอมที่พุงน้อยๆของเบบี๋ เบบี๋ก็จะตอบสนองด้วยการขยับทำท่าเหมือนจะพลิกตัว และเริ่มโยกตัวไปมาพลางถีบเท้า แต่ยังไม่คว่ำนะคะ ต้องรอให้กล้ามเนื้อของเบบี๋แข็งแรงขึ้นก่อน หากคุณพ่อคุณแม่อยากให้เบบี๋ ฝึกคว่ำ ก็สามารถจับเบบี๋นอนตะแคง แล้วเอาหมอน ม้วนผ้าห่ม หรือตุ๊กตา มาดันไว้ที่ข้างหลังของเบบี๋ เพื่อให้เบบี๋ชินกับท่าทางและคว่ำง่ายขึ้นได้ค่ะ
โดยปกติแล้ว ช่วงอายุที่เบบี๋สามารถพลิกตัวมาอยู่ในท่าคว่ำได้เองคือ ช่วงอายุราว 5 เดือน เนื่องจากกล้ามเนื้อแข็งแรงพอแล้ว แต่ปัญหาก็คือ ช่วงที่ ฝึกคว่ำ นั้น เบบี๋หลายคนอาจร้องไห้โวยวายเวลาต้องอยู่ในท่านอนคว่ำ นั่นเป็นเพราะเบบี๋รู้สึกอึดอัด ขยับตัวลำบาก ต้องออกแรงเคลื่อนไหวมากกว่าเดิม แถมยังแทบมองไม่เห็นอะไร นอกจากพื้นตรงหน้าอีกต่างหาก จึงทำให้เบบี๋ไม่ชอบนั่นเอง ซึ่งเคล็ดลับในการช่วยให้ลูกน้อยของคุณสนุก จนลืมความอึดอัดจากการ ฝึกคว่ำ ก็คือ
1. พลิกตัวสบายใจ เพราะตรงนี้ปลอดภัยไงล่ะ
เมื่อเบบี๋เริ่มพลิกตัว ห้ามปล่อยให้อยู่คนเดียวเด็ดขาด! ต่อให้เป็นบนเบาะที่วางกับพื้นก็ยังอันตรายมาก เพราะเบบี๋อาจพลิกคว่ำแล้วหน้าจมอยู่กับฟูกหรือเบาะ แล้วพลิกหงายไม่เป็นก็ได้ อันตรายมากนะ ให้มีคนอยู่ด้วยจะดีที่สุด โดยเฉพาะถ้าคุณพ่อคุณแม่คอยช่วยเชียร์ หรือทำท่าทางตามไปด้วย ชวนเบบี๋เล่นให้ผ่อนคลาย และไม่รู้สึกว่าเหนื่อยอยู่คนเดียว เบบี๋ก็จะยิ่งมีความสุขละ
2. พุงพ่อพุงแม่ ลาน ฝึกคว่ำ สุดโปรด
นอกจากคุณพ่อคุณแม่จะได้ดูแลเบบี๋อย่างใกล้ชิดแล้ว การได้มองหน้ากันแบบชัดๆ หรือหยอกล้อกับเบบี๋ไปด้วย ก็จะช่วยให้เบบี๋มีสุขภาพจิตที่ดี สนุกสนานแฮปปี้ไปพร้อมกันเลย
3. ของเล่นอยู่ไหน วางไว้ใกล้ตัว
การวางของเล่นเอาไว้ใกล้ๆ จะช่วยกระตุ้นให้เบบี๋ขยับเข้าไปคว้าได้ สามารถใช้ได้ทั้งกระจกเงา ผ้าหลากสี ของเล่นที่มีเสียง หรือของเล่นชิ้นโปรดของเบบี๋ นอกจากจะช่วยให้มีจุดหมายที่ชัดเจนแล้ว ยังช่วยเพิ่มความสนุกได้อีกด้วย
4. ฝึกคว่ำถูกเวลา เบบี๋ว่าดีกว่านะ
การฝึกคว่ำหงายเวลาที่เพิ่งกินอิ่มใหม่ๆ หิวมากเกินไป หรือตอนที่เบบี๋รู้สึกเหนื่อย การนอนคว่ำจะทำให้เบบี๋รู้สึกอึดอัดมากขึ้น ช่วงเวลาที่แนะนำสำหรับการฝึกคว่ำก็คือ ตอนเช้าหลังตื่นนอน หรือหลังเปลี่ยนผ้าอ้อมเสร็จ เพราะเป็นเวลาที่เบบี๋รู้สึกสบายตัวที่สุด และยอมให้คุณพ่อคุณแม่จับพลิกไปพลิกมายังไงล่ะ
5. นุ่มนิ่มสบายตัว ก็คว่ำได้เต็มที่
เสื้อผ้าที่เหมาะสมก็สำคัญกับการ ฝึกคว่ำ เช่นกัน ผ้าปูพื้น ผ้าห่ม หรือหมอนที่นุ่มนิ่ม และเสื้อผ้าที่ใส่สบาย ไม่อึดอัด จะช่วยให้เบบี๋ไม่โวยวายเวลาโดนจับคว่ำจับหงายด้วยนะ นอกจากนี้ การใช้แผ่นปูรองที่มีผิวสัมผัสต่างๆกันออกไป เช่น ผ้าขนหนู เสื่อ หรือพรมสีสันสดใส จะทำให้เบบี๋ได้เรียนรู้ผ่านการสัมผัสและการมองเห็นเพิ่มเติมได้ละ
สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ เวลา ฝึกคว่ำ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรใจร้อน อย่ากดดันเบบี๋นะคะ เบบี๋อาจไม่ชอบคว่ำนานๆ หรืออาจไม่ชอบคว่ำเลยก็ได้ ขอให้ใจเย็นๆ ค่อยๆฝึก แล้วในที่สุด ลูกน้อยของคุณก็จะสามารถลุกขึ้นนั่ง คลาน และเดินได้เหมือนกับเพื่อนๆของเขาเองค่ะ
© 2021 Osotsapa Company (Limited), All Rights Reserved. Privacy Policy/Terms of Service/CA Transparency Act