คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่หลายบ้าน อาจเคยพบกับสถานการณ์ที่ทำให้ต้องทะเลาะตบตีกับคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายอยู่หลายครั้ง เกี่ยวกับวิธีการ เลี้ยงลูก โดยเฉพาะในเรื่องที่ “ก็ทำกันมาตั้งนานแล้ว” ซึ่งเมื่อพิจารณาด้วยหลักการและเหตุผลแล้ว ก็ทำให้ข้องใจเหลือเกินว่า จะดีกับลูกจริงๆเหรอ? เพราะแม้วิธีเลี้ยงลูกแบบเก่าบางวิธีจะไม่มีพิษมีภัยอะไร แต่หลายเรื่อง ก็สามารถทำร้ายสุขภาพอนามัยของลูกน้อยได้เช่นกัน ส่วนเรื่องไหนบ้างที่ไม่ควรทำตาม วันนี้เราเอามาบอกกันแล้ว
1. ใช้ผ้าอ้อมเปียกฉี่ กวาดลิ้นลูกป้องกันฝ้าขาว
เมื่อเด็กทารกดื่มนม การมีฝ้าขาวติดลิ้นถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ โดยคนสมัยก่อนจะใช้ผ้าอ้อมเปียกฉี่เด็ก กวาดเข้าไปในปากเด็กเพื่อเช็ดทำความสะอาดคราบน้ำนมนี้ แต่ฉี่คือของเสียของร่างกาย จึงไม่เหมาะสมที่จะเอามาใช้กวาดลิ้นเด็กเป็นอย่างยิ่ง และการเช็ดทำความสะอาดลิ้นของลูกนั้น ใช้เพียงผ้าสะอาดชุบน้ำเปล่าเช็ดก็พอแล้ว
2. เมื่อลูกป่วย ต้องกวาดคอ
คนสมัยก่อนเชื่อว่า เมื่อเด็กไม่สบาย เช่น เป็นหวัด ไอ เจ็บคอ ลิ้นเป็นฝ้า เป็นไข้ หรือเบื่ออาหาร ต้องกวาดคอเพื่อเอาซางออกจึงจะหายป่วย โดยผู้ใหญ่จะใช้นิ้วมือป้ายยาสมุนไพรกวาดคอเด็ก โดยในทางการแพทย์นั้น ซางไม่มีอยู่จริง และแม้ว่าการกวาดคอจะสามารถทำได้ แต่ก็มีความเสี่ยงหลายอย่าง เช่น การใช้ยาที่ไม่เหมาะสม มือและเล็บของผู้ที่กวาดคออาจสกปรก หรือเล็บขูดโดนลำคอเป็นแผลภายในได้ เมื่อลูกป่วย การพาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
3. ให้ดัดขาแต่เล็ก ลูกจะได้ขาไม่โก่ง
ขาเด็กช่วงแรกเกิดจะมีลักษณะโก่งโค้งโดยธรรมชาติ แต่เมื่อถึงช่วงวัยที่เหมาะสม ขาที่เห็นว่าโก่งนั้น ก็จะตรงเองโดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย การดัดขาลูก นอกจากจะไม่สามารถช่วยเปลี่ยนแปลงรูปกระดูกได้แล้ว หากทำรุนแรง ยังอาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ ขาหัก หรือกระดูกผิดรูปได้
4. ห้ามตัดเล็บเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 เดือน
มีความเชื่อมาแต่โบราณว่า การตัดเล็บให้เด็กก่อนอายุครบ 1 เดือน จะทำให้เด็กป่วย ความจริงคือ เล็บของเด็กทารกนั้นอ่อนนิ่มมาก เมื่อในสมัยก่อน ไม่มีเครื่องมือที่ช่วยให้สามารถตัดเล็บเด็กทารกได้อย่างปลอดภัย จึงทำให้เสี่ยงต่อการตัดพลาดไปโดนเนื้อได้ แต่เนื่องจากเล็บของเด็กทารกยาวเร็วมาก คุณพ่อคุณแม่จึงควรดูแลเล็บของลูกให้สั้นมนอยู่เสมอ เพื่อป้องกันลูกข่วนหน้าตัวเอง โดยควรใช้กรรไกรตัดเล็บสำหรับเด็กเล็กโดยเฉพาะ เพราะคมน้อยกว่า และเหมาะกับนิ้วเล็กๆ ของลูกน้อย
5. อยากให้ลูกดั้งโด่ง ต้องบีบจมูก
กระดูกตรงส่วนจมูกของลูกเป็นกระดูกอ่อน เด็กๆที่เกิดใหม่จมูกจะดูแบน เมื่อโตขึ้นจึงจะเห็นรูปจมูกชัดเจนว่า โด่งหรือไม่โด่ง ซึ่งทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมของพ่อแม่ด้วย ไม่จำเป็นต้องบีบ นวด หรือคลึงอะไรทั้งนั้น เพราะนอกจากจะไม่ช่วยให้จมูกของลูกโด่งขึ้นแล้ว ยังอาจทำให้จมูกของลูกน้อยเจ็บหรืออักเสบได้อีกด้วย
6. อยากให้ลูกหัวทุยสวย และนอนได้นาน ต้องจับให้นอนคว่ำ
เด็กแต่ละคนมีท่านอนที่ชอบไม่เหมือนกัน คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตว่า ลูกนอนท่าไหนแล้วหลับสนิทและหลับได้นานที่สุด และแม้ว่าการนอนคว่ำจะช่วยให้หัวสวยได้จริง แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ ลูกอาจถูกปิดกั้นทางเดินหายใจ และเสียชีวิตได้ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ลูกหายใจไม่ออก แต่ไม่สามารถหันคอได้ หรือสำลักนมออกมา เมื่อคุณแม่ไม่เห็นหน้าลูก ก็อาจคิดว่าลูกนอนหลับ จนทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นมาได้
7. ป้อนกล้วยให้ลูกน้อยก่อน 6 เดือน
ระบบกระเพาะอาหารและลำไส้ของเด็กแรกคลอดยังไม่เจริญเติบโตและทำงานได้อย่างเต็มที่ จึงไม่ควรให้ทานอาหารอย่างอื่นนอกจากนมแม่ จนกว่าอายุจะถึง 6 เดือน ซึ่งเป็นวัยที่รับประทานอาหารเสริมอื่นๆ ได้แล้ว เพราะกล้วยอาจอุดตันลำไส้ของลูก จนอาจทำให้ต้องตัดลำไส้ หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้
8. บ้วนน้ำลายใส่สะดือลูก เพื่อให้สายสะดือหลุด
คนโบราณมีความเชื่อว่า หลังคลอดลูก 3 วัน ให้แม่บ้วนน้ำลายใส่สะดือลูกในตอนเช้า เพราะน้ำลายในตอนเช้า จะมีแบคทีเรียมาก ทำให้สะดือเน่าและหลุดไปเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากสายสะดือของเด็กจะหลุดเองโดยธรรมชาติอยู่แล้ว และสะดือของลูกถือว่าเป็นแผลเปิด ถ้าแบคทีเรียที่อยู่ในน้ำลายปนเปื้อน ก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้
9. อุ้มลูกเวลาร้อง จะทำให้เด็กติดมือและกลายเป็นเด็กเอาแต่ใจ
การที่ลูกร้อง เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าลูกกำลังต้องการอะไรบางอย่าง การสังเกต หาสาเหตุของการร้อง และตอบสนองอย่างเหมาะสม จะช่วยให้ลูกรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรก ที่ทารกสามารถสื่อสารความต้องการผ่านทางการร้องไห้เท่านั้น เมื่อได้รับความช่วยเหลือตรงความต้องการ ก็จะไว้วางใจว่ามีคนคอยดูแล และร้องไห้น้อยลงเรื่อยๆ ไม่ได้มีทำให้เด็กเสียนิสัยแต่อย่างใด ซึ่งต่างจากเด็กโตที่จะร้องไห้เพื่อเรียกร้องความสนใจเท่านั้น
10. ใช้รถหัดเดิน จะทำให้ลูกเดินได้เร็วขึ้น
เวลาที่อยู่ในรถหัดเดิน ลูกจะพยายามเคลื่อนที่ด้วยการจิกปลายและไถไปข้างหน้า แต่เวลาเริ่มหัดเดินจริงๆนั้น การเดินที่ถูกต้อง จะต้องใช้ส้นเท้าลงก่อน หากลูกอยู่ในรถหัดเดินเป็นเวลานาน ลูกอาจเคยชินกับการใช้ปลายเท้าจิกลง ทำให้เดินไม่ได้หรือเดินเป๋ ทำให้เดินได้ช้าลงกว่าเดิม รวมถึงรถอาจพลิกคว่ำ ทำให้เกิดอันตรายได้
จะเห็นได้ว่า คนสมัยก่อนมีความเชื่อเกี่ยวกับการ เลี้ยงลูก อยู่มากมาย และแม้ว่าหลายเรื่องอาจก่อให้เกิดอันตรายกับลูกน้อยของคุณได้ และควรเลือกปฏิบัติอย่างเหมาะสม แต่วิธีเลี้ยงลูกแบบเก่าหลายอย่าง ก็ไม่ไดส่งผลเสียอะไรนัก คุณพ่อคุณแม่จึงควรปฏิบัติ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของลูกเป็นสำคัญ
© 2021 Osotsapa Company (Limited), All Rights Reserved. Privacy Policy/Terms of Service/CA Transparency Act