หนึ่งในปัญหาชวนปวดหัวของคุณพ่อคุณแม่ที่ลูกอายุอยู่ในช่วง 1-5 ขวบ คือ ลูกอมข้าว ไม่ค่อยยอมเคี้ยวข้าว หรือเคี้ยวช้า ซึ่งนอกจากจะสร้างความหงุดหงิดให้คุณพ่อคุณแม่ที่ต้องรอป้อนอาหารแล้ว ยังอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพช่องปากของลูกน้อยจนถึงขึ้นทำให้ฟันผุได้เลย มาดูกันดีกว่าค่ะว่า ทำไมลูกของคุณถึงชอบอมข้าว แล้วคุณพ่อคุณแม่จะแก้ปัญหานี้ได้ยังไงบ้าง
ทำไมลูกถึงอมข้าว?
1. ขาดการฝึกการทานข้าวที่ถูกวิธี
ระหว่างนั่งทานข้าวด้วยกัน คุณพ่อคุณแม่ควรเคี้ยวข้าวให้ลูกดู พร้อมกับสอนให้ลูกทำตาม เคี้ยวแล้วค่อยกลืน เคี้ยวแล้วกลืนทำอย่างไร การที่ ลูกอมข้าว นั้น เป็นไปได้ว่าลูกอาจยังไม่รู้ว่า อาหารชนิดไหนกลืนได้เลย ชนิดไหนต้องเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน เลยอมไว้เฉยๆ คุณพ่อคุณแม่ควรอยู่ข้างๆ ช่วยเตือนลูกให้เคี้ยวอาหารก่อนกลืนด้วย
2. มีสิ่งที่เบี่ยงเบนความสนใจลูกจากโต๊ะอาหาร
มีสิ่งรบกวนต่างๆ ที่อาจดึงดูดความสนใจของลูกไปจากโต๊ะอาหารได้ เช่น การเปิดโทรทัศน์ขณะกินข้าว หรือแม้แต่ขวดนม ขนม หรือของว่างที่ลูกชอบ ที่อาจวางอยู่ใกล้ๆ
3. ต่อต้านการถูกบังคับให้กินอาหาร
คุณพ่อคุณแม่ห้ามดุว่า หรือบังคับให้ลูกทานข้าวเด็ดขาด เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกว่า ไม่มีความสุขในการทานอาหาร และอาจแสดงพฤติกรรมต่อต้านขึ้นมาได้ ควรสร้างบรรยากาศให้สบายๆ ผ่อนคลาย
4.ลูกอิ่มแล้ว
หากลูกทานข้าวไปสักพักแล้วเริ่มอมข้าว ลูกอาจจะกำลังพยายามบอกคุณว่า หนูอิ่มแล้ว คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรพยายามหลอกล่อให้ลูกทานต่อไป ให้หยุดป้อนทันที หากเห็นว่าลูกทานข้าวน้อยเกินไป ให้งดขนมหรือลดปริมาณของว่างของลูกลง เพื่อให้ลูกทานข้าวได้เพิ่มขึ้นจะดีกว่า
แก้ปัญหา ลูกอมข้าว ทำยังไงให้ลูกน้อยทานข้าวง่ายขึ้น
• ฝึกให้ลูกกินอาหารเป็นเวลา
คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ลูกกินอาหารเป็นเวลา ตรงตามมื้ออาหารเช้า กลางวัน เย็น โดยคุณพ่อคุณแม่ควรจะนั่งกินอาหารพร้อมกับลูกด้วย อย่าปล่อยให้ลูกนั่งกินกับพี่เลี้ยง หรือนั่งกินหน้าโทรทัศน์โดยเด็ดขาด
• กะปริมาณให้อาหารพอเหมาะ
เวลาปรุงอาหาร คุณแม่ควรตัดอาหารของลูกให้เป็นชิ้นพอดีคำ เพื่อให้ลูกเคี้ยวง่าย ส่วนปริมาณอาหารในจานลูกก็ควรให้ทีละน้อยๆ เมื่อลูกทานหมดแล้วค่อยเติมทีละนิดไปเรื่อยๆ
• สังเกตการเคี้ยวอาหารของลูก
เวลาทานอาหารด้วยกัน คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตว่า ลูกเคี้ยวอาหารเป็นหรือไม่ เมื่อถึงวัยที่ลูกเริ่มฟันขึ้น ก็ควรให้ลูกได้ฝึกเคี้ยวอาหารแข็ง และลองอาหารหลายๆ แบบ โดยให้ลองทีละน้อยเพื่อไม่ให้ลูกเกิดการต่อต้าน
• ให้ลูกสนุกกับการกิน
เด็กในวัยนี้มักต้องการจะตักอาหารกินด้วยตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ก็ควรปล่อยให้ลูกได้ทำเองค่ะ อาจจะมีอาหารหกเลอะเทอะไปบ้าง แต่ลูกจะมีความสุข และสนุกกับการกิน
• ตัดสิ่งเร้าภายนอกออกไป
การเปิดโทรทัศน์ การวางของเล่นให้ลูกเห็น หรือแม้แต่การวางนม หรือขนมที่ลูกชอบให้เห็นระหว่างทานอาหาร ต่างก็สามารถเบี่ยงเบนความสนใจของลูกไปจากการอาหารได้ทั้งนั้นค่ะ
• อย่ายอมลูกเกินไป
เมื่อลูกอมข้าว มักใช้เวลาในการกินแต่ละมื้อยาวนาน คุณพ่อคุณแม่ก็มักจะยอมรอและป้อนจนกว่าลูกจะอิ่ม หรือข้าวจะหมดจาน แต่นั่นกลับเป็นการปลูกฝังวินัยการกินที่ผิดให้กับลูก คุณพ่อคุณแม่ควรใจแข็งกับลูก ถ้าลูกกินข้าวไม่หมดในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ ก็ให้เก็บจานข้าวไปเลย
• อย่าให้เด็กกินขนม หรือนม จนอิ่ม
การทานขนม หรือดื่มนมช่วงระหว่างมื้ออาหารมากเกินไป จะทำให้ลูกอิ่ม และไม่ยอมทานข้าวได้
• อย่าให้ลูกกินอาหารหลังจากเล่นเสร็จ
คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกหยุดเล่นก่อนเริ่มมื้ออาหารอย่างน้อย 10 นาที เพื่อให้ลูกได้พัก และดึงความสนใจของลูกให้ห่างจากของเล่น การให้ลูกทานอาหารหลังเล่นเสร็จทันที ร่างกายของลูกจะยังเหนื่อยอยู่ และไม่พร้อมที่จะทานอาหาร
จะเห็นได้ว่า การที่ลูกน้อยของคุณอมข้าวเอาไว้ในปากนั้น เกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งส่วนมากก็เป็นเพราะลูกห่วงเล่น มัวแต่สนใจสิ่งรอบตัว หรือยังไม่ได้รับการฝึกการเคี้ยวอย่างถูกต้อง คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องใจแข็ง และฝึกการกินของลูกเมื่อถึงเวลา เพื่อให้การทานข้าวของลูกเป็นไปได้อย่างราบรื่น ไม่อมข้าวให้เสียฟันผุ จนเลยเถิดไปเสียสุขภาพด้วยนะคะ
© 2021 Osotsapa Company (Limited), All Rights Reserved. Privacy Policy/Terms of Service/CA Transparency Act