“จากผลสำรวจ 94% คุณแม่รู้สึกไม่มั่นใจในสัญชาตญาณการเลี้ยงลูกของตัวเอง และอีก 83% คุณแม่มีความเครียดและวิตกกังวลในการเลี้ยงลูก”
เชื่อว่าแม่ทุกคนเมื่อต้องกลายมาเป็นแม่นอกเหนือจากความสุขที่เกิดจากเจ้าตัวเล็กแล้ว ความกังวลต่างๆ ก็เข้ามาพร้อมๆ กันด้วย โดยเฉพาะแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกเองคนเดียว หรือเป็นคุณแม่ที่ประสบการณ์น้อย ยิ่งกังวลไปทุกอย่าง ผลการสำรวจความวิตกกังวลเป็นตัวเลขที่สูงขนาดนี้ยิ่งตอกย้ำได้ดี
แม่หลายคนวิตกกังวลเรื่องเลี้ยงลูกไปหมดทุกเรื่อง ตั้งแต่ลูกตื่นลืมตาตอนเช้า จนเข้านอนก็หยุดคิดเรื่องลูกไม่ได้ ลูกร้องไห้ ลูกไม่อึ ลูกกินน้อย ลูกเป็นผื่น จะพาออกไปข้างนอกก็กลัวเชื้อโรค จะฝากคนอื่นเลี้ยงก็ไม่ไว้ใจ นานวันความวิตกกังวลเหล่านี้ก็กลายเป็นความเครียด กดดันตัวเองไปหมด แทนที่จะได้เลี้ยงลูกอย่างมีความสุขก็รับเอาความกดดันสารพัด มาเก็บไว้กับตัวเอง
ยิ่งแม่เครียด ความเครียดของแม่นั้นก็ส่งต่อไปถึงลูก เพราะพฤติกรรมของลูก ล้วนเป็นผลมาจากการเลี้ยงดูและอารมณ์ของคนเลี้ยงด้วย
เรามาหยุดความกังวลต่างๆ ของแม่ด้วยวิธีเหล่านี้กัน
• มองมุมบวก ปรับความคิด อย่าคิดแต่เรื่องร้าย หรือเอาแต่กังวลถึงเรื่องที่ยังมาไม่ถึง ลองนึกถึงความสุขในวันที่รู้ว่ากำลังจะมีลูก ตอนที่วางแผน วาดอนาคตให้ลูก จะช่วยให้แม่มีกำลังใจที่ดีขึ้น
• เล่นสนุกกับลูก ช่วงเวลาการได้เล่นสนุกกับลูก การได้เห็นลูกยิ้ม หัวเราะ จะช่วยให้หัวใจแม่ได้อิ่มเอม พองโตมากขึ้น
• หาเวลาผ่อนคลาย ลองหาเวลาพักสั้นๆ อาจจะไม่ต้องไปไหนไกล แค่ เปิดน้ำอุ่นใส่อ่างอาบน้ำตีฟองสบู่แล้วนอนแช่สักครึ่งชั่วโมงก็ช่วยให้ผ่อนคลายได้แล้ว
• หาเพื่อนคุยระบายความเครียด หาเพื่อนหรือญาติพี่น้องที่พอจะพูดคุย ระบายความอัดอั้น ความเครียดวิตกกังวลของการเลี้ยงลูกดูบ้าง
สิ่งที่สำคัญสำหรับแม่ที่กำลังเครียดหรือรู้ตัวว่าวิตกกังวลกับการเลี้ยงลูกมากเกินไป คือต้องโยนความเครียดทุกอย่างทิ้งไปให้หมด หยุดคิด หยุดฟังเสียงจากคนรอบข้าง ปิดตำราชั่วคราว แล้วค่อยๆ เรียนรู้ธรรมชาติของลูกน้อย เพื่อเลี้ยงลูกด้วยสัญชาตญาณความเป็นแม่ในตัวเอง ใครจะว่าทำแบบนี้ไม่ดี ไม่ใช่ ขอให้ฟังเสียงจากคนอื่นให้น้อยลง และเชื่อมั่นในความเป็นแม่ของตัวเองให้มากขึ้น เพราะวิธีการเลี้ยงลูกแต่ละคนไม่เหมือนกัน
เพียงคุณแม่มั่นใจเชื่อในสัญชาตญาณและเลือกสิ่งที่เข้ากับธรรมชาติของลูกเราที่สุด เพราะการเลี้ยงลูก "ไม่มีผิดไม่มีถูก" ดังนั้นขอเพียงเชื่อว่าเราได้ดูแลและเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกแล้ว ผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร ขอให้ยอมรับและมีความสุขกับความเป็นแม่ของตัวเอง
*จากผลสำรวจความคิดเห็นทางแบบสอบถามออนไลน์โดย บริษัท ทิคเคิลด์ มีเดียจำกัด ระหว่างวันที่ 15 – 21 มิถุนายน 2560 ประเทศไทย กับกลุ่มคุณแม่คนไทยจำนวน 400 คน ที่มีลูกตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 ปี
© 2021 Osotsapa Company (Limited), All Rights Reserved. Privacy Policy/Terms of Service/CA Transparency Act