เมื่อคุณแม่คลอดน้องออกมาแล้ว ส่วนใหญ่น่าจะได้เรียนรู้เรื่องการ ห่อตัวเด็กทารก มาจากโรงพยาบาลกันบ้าง หลายคนอาจมองว่าการห่อตัวเด็กเป็นอะไรที่ยุ่งยากวุ่นวาย และดูเหมือนจะซับซ้อน แต่การห่อตัวเด็กแรกเกิดนั้น นอกจากจะช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกอบอุ่นเหมือนตอนที่อยู่ในครรภ์แม่แล้ว ยังมีประโยชน์อื่นต่อลูกน้อยของคุณอีกมาก อีกทั้งวิธีการห่อตัวเด็กแรกเกิดนั้น จริงๆ แล้วก็ไม่ได้ยากอย่างที่หลายคนคิด มาดูประโยชน์และวิธีห่อตัวเด็กทารกกันเลยดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง
ประโยชน์การ ห่อตัวเด็กทารก
1. ช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกสงบ มีความสุข
การห่อตัวลูกจะช่วยให้เด็กรู้สึกคุ้นเคย อบอุ่น และรู้สึกสบายเหมือนกับตอนที่ยังอยู่ในท้องของแม่ การห่อตัวจึงทำให้ลูกน้อยของคุณรู้สึกสบาย และร้องไห้โยเยน้อยลง
2. ลดอาการตกใจกลัว
เมื่อมีเสียงดังมาก เช่น เสียงประตูกระแทก หรือเสียงฟ้าร้อง ลูกน้อยอาจจะตกใจกลัวจนร้องไห้ออกมา การห่อตัวและกอดอุ้มจะช่วยให้เด็กหายกลัวและหยุดร้องไห้ หรือร้องไห้น้อยลงได้
3. นอนหลับได้นานขึ้น
เด็กเล็กๆ อาจผวาตื่นได้ง่าย การห่อตัวจะช่วยลดอาการผวาหรือตกใจตื่นระหว่างนอนหลับได้
4. ช่วยด้านการพัฒนาระบบประสาท
การห่อตัวจะช่วยลดปฏิกิริยาที่ถูกกระตุ้นจากการถูกสัมผัสในช่วงแรก และช่วยให้เด็กทารกปรับตัวกับการถูกสัมผัส โดยเฉพาะในเด็กเล็กคลอดก่อนกำหนด หรือเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อยๆ
ผ้าสำหรับใช้ห่อตัวเด็กทารก
สามารถใช้ได้ทั้งผ้าอ้อมหรือผ้าขนหนู แต่ควรเป็นผ้าที่มีความอ่อนนุ่มและสัมผัสสบายต่อตัวเด็กทารก ความหนาของผ้าควรเลือกให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ ส่วนขนาดของผ้านั้น ควรใหญ่พอให้สามารถห่อตัวเด็กได้ โดยที่เมื่อห่อตัวแล้วผ้าจะต้องกระชับพอ และไม่เลื่อนหลุดเมื่อเด็กดิ้น
วิธีการห่อตัวเด็กทารกแบบต่างๆ
1. การห่อตัวแบบคลุมศีรษะ หรือแบบมีหมวก – เหมาะสำหรับในช่วงหน้าหนาว หรือเด็กที่อยู่ในห้องแอร์ ช่วยในการเตรียมตรวจหรือดูแลใบหน้าเด็กทารก, รักษาอุณหภูมิร่างกายของเด็กทารก
• ปูผ้าที่จะใช้ห่อตัวเด็กลงบนเตียงหรือผ้าปูรองนอน พับมุมผ้าด้านหนึ่งลงมาให้เป็นรูปห้าเหลี่ยม
• วางเด็กลงผ้าห้าเหลี่ยม ให้ศีรษะเด็กอยู่ต่ำกว่ามุมผ้าที่พับไว้ไว้ 3-4 นิ้ว
• ตลบผ้าลงมาโอบรอบศีรษะ ให้ขอบผ้าปิดบริเวณหน้าผากและใบหู
• จับแขนเด็กทั้งสองข้างแนบลำตัว ดึงชายผ้าข้างหนึ่งคลุมไหล่ ผ่านลำตัว สอดชายผ้าไว้ใต้แขนอีกข้าง
• จับแขนอีกข้างหนึ่งแนบลำตัว ตลบชายผ้าด้านที่เหลือให้คลุมไหล่และลำตัว อ้อมชายผ้าพันรอบตัวเด็กด้านหลัง
• รวบชายผ้าบริเวณปลายเท้า เก็บปลายผ้าด้วยเข็มกลัดซ่อนปลาย หรือถ้ากลัวว่าเข็มกลัดจะทิ่มโดนตัวลูก ก็สามารถผูกปมแทนได้
2. การห่อตัวแบบเปิดศีรษะ – เหมาะสำหรับช่วงที่อากาศร้อน ช่วยในการดูแลบริเวณศีรษะเด็กทารก เช่น เจาะเลือด ล้างจมูก ดูดเสมหะ ฯลฯ
• ขั้นตอนเหมือนกับการห่อตัวแบบคลุมศีรษะ แต่ตอนที่วางเด็กลงบนผ้า ให้ขอบผ้าของส่วนที่พับลงมา อยู่ในระดับเดียวกับบ่าของเด็ก
3. การห่อตัวแบบเปิดแขนข้างใดข้างหนึ่ง - ช่วยในการดูแลบริเวณแขนหรือปลายนิ้ว เช่น ให้น้ำเกลือ เจาะเลือด หรือทำแผล, ช่วยในการดูแลช่วงอกของเด็กทารก เช่น ใส่สายยางให้อาหาร, ทำแผลบริเวณหน้าอก หรือหน้าท้อง
แม้ว่าวิธี ห่อตัวเด็กทารก วิธีสุดท้ายนั้นจะยุ่งยากเล็กน้อย เนื่องจากเป็นการห่อตัวที่มักใช้เพื่อดูแลเด็กป่วยในโรงพยาบาล แต่การห่อตัวพื้นฐานแค่ 2 แบบแรกก็เพียงพอแล้ว สำหรับคุณแม่ในการนำไปใช้ห่อตัวลูกน้อยเองที่บ้าน ได้อย่างไม่ยากเย็นอะไรเลย
© 2021 Osotsapa Company (Limited), All Rights Reserved. Privacy Policy/Terms of Service/CA Transparency Act